คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3896/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์มาใช้ในกิจการค้าของจำเลยที่ 1 หาเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ไม่
การที่โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้ และรับเงินจากโจทก์ไปต่างกับฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติ และตามอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้เงินโจทก์แล้วก็ไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหานี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการ กู้เงินโจทก์ไปโดยไม่ได้กำหนดเวลาชำระเงินกู้คืน มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน นับแต่กู้เงินไปจำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินจึงเป็นการกระทำนอกเหนือวัตถุประสงค์ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย และต่อสู้ในข้ออื่นอีก

จำเลยที่ 3 ให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางจำเลยที่ 1 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน สัญญาค้ำประกันจึงไม่มีผลตามกฎหมายโจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามฟ้อง

จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 คงให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน สัญญากู้ยืมเงินจะมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เงินจำนวน 230,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 กู้มาจากโจทก์นั้นได้นำมาใช้ในกิจการค้าของจำเลยที่ 1 จึงหาเป็นการนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ไม่ และมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดในเงินจำนวนนี้ตามสัญญากู้ และสัญญาค้ำประกัน

การที่โจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้กู้และรับเงินจากโจทก์ไปจำเลยที่ 2 เคยชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ 2 ปี ต่างกับฟ้องที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติและตามอุทธรณ์ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้เงินโจทก์แล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว

พิพากษายืน

Share