แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในขณะที่โจทก์ฟ้อง อ. อ. ได้ถึงแก่กรรม ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้อง อ. เป็นจำเลยที่ 5 ได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 5มารับผิดแทนจำเลยที่ 5 ซึ่งโจทก์ไม่สามารถจะฟ้องร้องได้อยู่แล้วจึงไม่อาจกระทำได้เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยที่ 5ได้ใหม่
ย่อยาว
คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่เหลือติดจำนองอยู่จำนวน 3 แปลง ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำให้การต่อสู้คดี จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์ทราบจากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกห้างไปแล้วภายหลังถูกฟ้องคดีนี้ ส่วนจำเลยที่ 5ถึงแก่กรรมไปเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2538 ก่อนโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอเพิ่มเติมข้อความในคำฟ้องว่า “อนึ่ง เนื่องจากนายอารีย์ วีระพันธ์ ได้เสียชีวิตลงหลังจากวันที่ได้จำนองที่ดินไว้แก่โจทก์ และกรณีอยู่ระหว่างการแบ่งมรดกจำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมจะต้องชำระหนี้จำนองจากกองมรดกของผู้ตายด้วย” และยื่นคำร้องลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 อีกฉบับหนึ่งขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอเพิ่มเติมข้อความต่อท้ายคำฟ้องแผ่นสุดท้ายว่า “เนื่องจากหลังวันฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยมีจำเลยที่ 3เป็นผู้ชำระบัญชีและจำเลยที่ 3 เสร็จการชำระบัญชีโดยไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ก่อนจำเลยที่ 3 จะต้องชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์รวมทั้งนำทรัพย์ที่แบ่งปันแก่หุ้นส่วนทั้งหมดของจำเลยที่ 2 กลับคืนมาเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ด้วย” และขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องเป็นอีกข้อหนึ่งว่า”ขอให้จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายอารีย์ วีระพันธ์ ชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำขอข้างต้นจากกองมรดกของนายอารีย์ วีระพันธุ์ และให้โจทก์ใช้สิทธิที่จะบังคับจำนองแก่ทรัพย์จำนองตามคำขอข้างต้นเอาแก่จำเลยที่ 3ในฐานะผู้รับโอนทรัพย์จำนอง กับให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ รวมทั้งนำทรัพย์ที่แบ่งปันแก่หุ้นส่วนทั้งหมดของจำเลยที่ 2 กลับคืนมาเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์” ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 ว่า ตามที่โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 5 ถึงแก่กรรมก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 5 เพราะไม่มีสภาพเป็นบุคคลจึงให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความและโจทก์ไม่อาจขอแก้ไขคำฟ้องโดยให้จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมรับผิดเพราะไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดได้เลิกห้างไปหลังจากยื่นฟ้องแล้วเห็นว่า ตอนท้ายของคำร้องฉบับนี้มีการแก้ไขเกี่ยวพันถึงจำเลยที่ 5 ด้วยจึงให้โจทก์ไปจัดการแก้ไขเสียให้ถูกต้องเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งต่อไป
ต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2540 โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องฉบับใหม่เพิ่มเติมข้อความต่อจากคำฟ้องเดิมสรุปได้ความว่า เนื่องจากหนี้ของจำเลยที่ 1 มีนายอารีย์ วีระพันธุ์ จำนองที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 1348/164พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันในวงเงิน 70,000,000 บาท แต่หลังจากจำนองแล้วนายอารีย์ได้ถึงแก่กรรม (ขณะนี้อยู่ระหว่างแบ่งมรดก) และจำเลยที่ 3 ในฐานะบุตรทายาทโดยธรรมของผู้ตายได้รับโอนทรัพย์จำนองซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายไป โจทก์จึงชอบที่จะบังคับจำนองที่ดินแปลงที่กล่าวนี้แก่จำเลยที่ 3 ได้ อนึ่งหลังจากวันฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระบัญชีและจำเลยที่ 3 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีโดยไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ก่อน จำเลยที่ 3จะต้องรับผิดต่อโจทก์และขอเพิ่มเติมคำขอท้ายฟ้องมาด้วย ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์ในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 มกราคม 2541ว่า จำเลยที่ 5 ถึงแก่กรรมก่อนฟ้อง ศาลจำหน่ายคดีไปแล้วเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์จะขอแก้ไขฟ้องโดยให้จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทของจำเลยที่ 5 รับผิดแทนไม่ได้เพราะไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ส่วนจำเลยที่ 2เลิกห้างระหว่างพิจารณา โจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องโดยให้จำเลยที่ 3ในฐานะผู้ชำระบัญชีรับผิดแทนจำเลยที่ 2 ไม่ได้ เพราะไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ฉบับลงวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เฉพาะส่วนที่ขอให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามข้อความในหน้าที่ 2 ย่อหน้าที่ 2 และคำขอท้ายฟ้องที่เพิ่มเป็นข้อ 5 ไว้แล้วดำเนินการต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์จะขอแก้ไขคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของนายอารีย์ วีระพันธุ์ จำเลยที่ 5 ได้หรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่านายอารีย์ วีระพันธุ์ จำเลยที่ 5 ได้ถึงแก่กรรมก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เห็นว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องนายอารีย์นั้น นายอารีย์ได้ถึงแก่กรรม ไม่มีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องนายอารีย์ เป็นจำเลยที่ 5 ได้การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยที่ 5 มารับผิดแทนจำเลยที่ 5 ซึ่งโจทก์ไม่สามารถจะฟ้องร้องได้อยู่แล้วจึงไม่อาจกระทำได้เพราะมิใช่เป็นการแก้ไขคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 โจทก์ชอบที่จะไปฟ้องร้องจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของจำเลยที่ 5 ได้ใหม่ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องในประเด็นนี้โดยยกคำร้องในส่วนนี้จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน