คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8113/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 12 วรรคสาม คำว่า “สิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน” นั้น เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติรับรองถึงสิทธิของผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ สิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงหมายรวมถึงสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ด้วย เมื่อ พ. ได้ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ให้แก่จำเลย และจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จึงแสดงให้เห็นว่า พ. ได้สละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและโอนที่ดินพิพาทโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยรับโอนมาโดยชอบ จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 59 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจนำที่ดินที่พิพาทมาใช้ในการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม ตาม พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 26 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย และเพิกถอนคำขอออกโฉนดที่ดินของจำเลย กับมีคำสั่งว่าที่ดินที่จำเลย (ที่ถูกที่ดินที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดิน) เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำบอกกล่าวขอถอนคำฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ ๙,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตท้องที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีกฎกระทรวงฉบับที่ ๓๖๙ (พ.ศ. ๒๕๑๑) ลงวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ กำหนดให้ป่าเมืองไผ่ซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ได้มีพระราชกฤษฎีกา ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินของโจทก์ เดิมเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เอกสารหมาย ล. ๒ มีนายพล เสือชุมแสง ถือสิทธิครอบครอง ต่อมานายพลได้ขายให้แก่จำเลยพร้อมกับมอบแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ให้ด้วย หลังจากนั้นจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ต่อมาจำเลยได้นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ สาขานางรอง โจทก์คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนเปรียบเทียบแล้ว มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่านายพล เสือชุมแสง เข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินของรัฐ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๕๔ และ ๗๒ ตรี การแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทของนายพลจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ นั้น เห็นว่า ประเด็นดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่มิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาตรา ๑๒ วรรคสาม บัญญัติว่า ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งสิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่รวมสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ด้วยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕ บัญญัติรับรองถึงสิทธิของผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ดังนั้น สิทธิในที่ดินที่บุคคลมีอยู่ตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงหมายรวมถึงสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายพลได้ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินที่มีสิทธิครอบครองให้แก่จำเลย และจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยทำเป็นสวนผลไม้ ปลูกต้นมะพร้าว กล้วย และมะม่วง พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่านายพลได้สละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและโอนที่ดินพิพาทโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย จำเลยรับโอนมาโดยชอบ จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามนัยแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๕๙ วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๖ (๔) แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาชอบแล้ว ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share