คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจให้นับโทษจำคุกจำเลยสองสำนวนควบกันไปโดยไม่นับโทษติดต่อกันถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย โจทก์จะฎีกาโต้แย้งในเรื่องการขอให้นับโทษต่อไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา ม.218 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับราชการตำแหน่งเสมียน++จังหวัดสกลนคร ของแผนกมหาดไทยจังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๙ ธ.ค.๙๔ จำเลยได้เบิกและรับเงินของทางราชการจากคลังจังหวัดสกลนครจำนวน ๖๕,๙๑๖.๑๒ บาท มาเก็บรักษาไว้เพื่อจ่ายตามหน้าที่ต่อมาระหว่างวันที่ ๒๙ ธ.ค.๙๔ ถึงวันที่ ๒๘ ก.พ.๙๖ กับเวลาไม่ไดไม่ปรากฏจำเลยได้ยักยอกเงินรายนี้ไปเป็นประโยชน์ตนเสีย ๓,๘๖๗ บาท เหตุเกิดที่ ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกล จ.สกลนคร ขอให้ลงโทษ และนับโทษต่อจากคดีอาญาดำที่ ๓๘๘/๙๖ ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธข้อหา แต่รับว่าจำเลยคนเดียวกันกับคดีอาญาดำที่ ๓๘๘/๒๔๙๖
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ (ไม่ระบุบทลงโทษ) ให้จำคุกจำเลย ๑ ปี และให้จำเลยใช้หรือคืนเงินแก่แผนกมหาดไทยจังหวัดสกลนครเป็นเงิน ๓,๘๖๗ บาท ให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาดำที่ ๓๘๘/๒๔๙๖ ของศาลนี้
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าจำเลยได้ทำผิดจริงตามข้อหา จึงพิพากษายืน ส่วนการนับวันต้องขังให้เป็นไปตามคำพิพากษาคดีแดงของศาลอุทธรณ์ที่ ๓๔๔/๒๔๙๘
โจทก์ฎีกาขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีแดงที่ ๘๐/๑๔๙๗ ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาปรึกษาคดีนี้แล้วเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจให้นับโทษจำคุกจำเลยสองสำนวนควบกันไปโดยไม่นับโทษติดต่อกัน ซึ่งเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ฎีกาโจทก์ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา ม.๒๑๘ ไม่รับวินิจฉัย จึงให้ยกฎีกาโจทก์เสีย.

Share