แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การร้องขอเข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1) ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณา เว้นแต่สิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น ส่วนมาตรา 57 (2) ต้องยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ดังนั้น ทั้งสองกรณีดังกล่าวต้องยื่นก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น จะยื่นในระหว่างอุทธรณ์ไม่ได้
การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องนั้นแม้จะเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา แต่ก็มีผลเท่ากับให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 2,685,907.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 40 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,031,826.68 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา หลังจากจำเลยยื่นคำให้การแล้วแต่ยังไม่สืบพยานโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต จำเลยยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,031,826.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,385,231.97 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมเพื่อให้ได้รับการรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้อง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง กับพิพากษายกอุทธรณ์จำเลย
ผู้ร้องและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยฎีกาผู้ร้องว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของผู้ร้องชอบหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาอ้างว่ากรณีของผู้ร้องถือได้ว่าเป็นการร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) มิใช่มาตรา 57 (2) และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ขอในระหว่างอุทธรณ์ จึงขอในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้ เห็นว่า ไม่ว่ากรณีจะเป็นการร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามมาตรา 57 (1) ดังที่ผู้ร้องฎีกากล่าวอ้างไว้หรือไม่ก็ไม่เป็นเหตุให้ผลของการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง เพราะการร้องขอเข้าเป็นคู่ความ ตามมาตรา 57 (1) ได้กำหนดว่า ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา เว้นแต่สิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น ส่วนมาตรา 57 (2) ได้กำหนดว่าต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ดังนั้น ทั้งสองกรณีดังกล่าวต้องยื่นก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น จะยื่นในระหว่างอุทธรณ์ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยต่อไปว่า การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้คำฟ้องนั้นต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องชอบหรือไม่เท่านั้นโดยมิได้กล่าวล่วงเข้าไปในประเด็นวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคสอง ให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับข้อพิพาทเช่นว่านี้ในคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทนั้น มิใช่กรณีที่จะต้องบังคับตามมาตรา 229 ซึ่งศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้จำเลยต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ สำหรับข้อพิพาทในส่วนนี้ต่อโจทก์ กรณีจึงไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องนั้นแม้จะเป็นอุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาแต่ก็มีผลเท่ากับให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยจึงต้องนำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ต้องปฏิบัติขณะยื่นอุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคสอง ที่จำเลยอ้างในฎีกานั้นเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมสำหรับข้อพิพาทที่ไม่เป็นประเด็นในคดีไปในคำสั่งชี้ขาดข้อพิพาทเสียทีเดียว กรณีไม่ตรงกับคดีนี้ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน