คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1659/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผลของการเฝ้าสังเกตและติดตามจำเลยทั้งสี่เป็นเวลาหลายเดือนและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกระยะโดยบันทึกข้อมูลที่รายงานนั้นไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เจ้าพนักงานจึงทราบว่าผู้ที่รับซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ใดบ้างและอยู่ที่ใด จนกระทั่งเจ้าพนักงานสามารถติดตามจับกุมบุคคลหลายคนที่ซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสี่ได้ ประกอบกับบัญชีเงินฝากในธนาคารของจำเลยที่ 2 เคลื่อนไหวด้วยจำนวนเงินสูง การที่จำเลยทั้งสี่นัดส่งมอบเงินและยาเสพติดให้โทษกันที่ร้านอาหารตามวันเวลาที่เกิดเหตุและเจ้าพนักงานติดตามไปตรวจค้นและจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ที่ร้านอาหารดังกล่าว และจับกุมจำเลยที่ 4 ได้ที่ด่านเก็บเงินบางปะอิน เจ้าพนักงานค้นพบเงินสดจำนวนมากซึ่งรวมกันเป็นเงิน 26,181,320 บาท ทั้งยังพบเอกสารหลายแผ่นมีข้อความและตัวเลขแสดงถึงการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนประกอบกับในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนจริง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในการรับซื้อเมทแอมเฟตามีน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการร่วมกันสมคบโดยตกลงกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ มาตรา 8

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 7, 8, 14, 27, 30, 31 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 89 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92 ริบอาวุธปืน กระสุนปืน ถุงพลาสติก 1 ปึก กระดาษจดข้อความ 6 แผ่น สมุดเอกสาร 1 เล่ม ของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษตามฟ้อง แต่ปฏิเสธในข้อหาสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง จำคุกคนละ 5 ปี และจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 4 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นจำคุก 6 ปี 8 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน และจำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดคนละหนึ่งในสี่ และลดโทษให้จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 3 ปี 9 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 5 ปี และ 8 เดือน ตามลำดับ เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นจำคุก 5 ปี 8 เดือน ริบอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ถุงพลาสติก กระดาษจดข้อความและสมุดของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 คำรับของจำเลยทั้งสี่ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดคนละหนึ่งในสาม และลดโทษให้จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในครอบครองกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีกำหนดคนละ 3 ปี 4 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ เรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นจำคุก 3 ปี 10 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ที่บริเวณร้านอาหารหนองโสน ริมถนนสายเอเชีย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และยึดรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ศ-1529 กรุงเทพมหานคร เงินจำนวน 12,970,000 บาท บรรจุในกล่องสีน้ำตาลอยู่ที่ท้ายรถยนต์คันดังกล่าว เงินจำนวน 300,000 บาท ในช่องเก็บของพร้อมด้วยกระดาษ 6 แผ่น ตามเอกสารหมาย จ.14 วิทยุติดตามตัวหมายเลข 477035 และหมายเลข 559236 โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขโทรศัพท์ 01-6171049 ของจำเลยที่ 1 รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 7 พ-2716 กรุงเทพมหานคร เงินจำนวน 1,500,000 บาท บรรจุในถุงกระดาษสีน้ำตาล เงินจำนวน 945,320 บาท บรรจุในกระเป๋าพลาสติกสีขาวสายสีน้ำเงินในรถยนต์คันดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จับกุมจำเลยที่ 4 ได้ที่ด่านเก็บเงินบางปะอิน พร้อมกับยึดรถยนต์ป้ายทะเบียนสีแดง หมายเลข ฉ-2143 กรุงเทพมหานคร เงินจำนวน 8,000,000 บาท บรรจุในกระเป๋าสีน้ำเงิน เงินจำนวน 650,000 บาท บรรจุในกระเป๋าเอกสารโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 9873025 กระดาษ 1 แผ่น ตามเอกสารหมาย จ.25 ภายในรถยนต์ดังกล่าวของจำเลยที่ 4 เงินจำนวน 1,170,000 บาท ถุงพลาสติกใสขนาด 2 x 3 นิ้ว จำนวน 1 ปึก อาวุธปืนยาวอัดลม 2 กระบอก กระสุนปืนอัดลม 7 กล่อง และกระสุนปืนลูกกรดจำนวน 1 นัด จากบ้านของจำเลยที่ 4
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า ก่อนฟ้องโจทก์ไม่มีเมทแอมเฟตามีนเป็นของกลาง ซึ่งเป็นสิ่งของที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงซื้อขายจากจำเลยที่ 1 โจทก์กล่าวอ้างลอยๆ ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายเกี่ยวกับสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันสมคบโดยตกลงกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และเป็นยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 ถุง จากจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาไว้ในครอบครองของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพื่อขายและจำเลยที่ 1 ตกลงขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนี้ โจทก์ได้บรรยายถึงเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 ถุง ซึ่งเป็นสิ่งของที่จำเลยทั้งสี่เกี่ยวข้องโดยจะซื้อขายกัน เป็นการบรรยายถึงสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะเข้าใจคำฟ้องได้แล้ว ส่วนเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 ถุง ไม่ได้เป็นของกลางในคดีนี้ เป็นเรื่องของการรวบรวมค้นหาพยานหลักฐาน ถึงแม้โจทก์ไม่มีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 ถุง เป็นของกลางในคดีก็ตาม ต้องถือว่าโจทก์บรรยายฟ้องเรื่องสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในประการต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันสมคบโดยการตกลงกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีนายสุขุม โอภาสนิพัทธ์ นายวิฑูรย์ จำปาทอง นายสิทธิศักดิ์ วัจนะรัตน์ เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และร้อยตำรวจเอกพรชัย ไข่สนอง เป็นพยานเบิกความว่าเมื่อปลายปี 2536 นายสุขุมสืบทราบว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับนางกิมกี่หรือกี แซ่ตั้ง ขายเมทแอมเฟตามีนโดยซื้อจากจำเลยที่ 1 นายสุขุมจึงขออนุมัติจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นในจังหวัดลพบุรีและได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2537 หลังจากนั้นนายสุขุมสั่งการให้นายวิฑูรย์สืบสวนเรื่องนี้ นายวิฑูรย์สืบสวนแล้วรายงานต่อนายสุขุมว่า นางกิมกี่ นายน้อย ทัตสุวรรณ และจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการค้าเมทแอมเฟตามีน โดยมีนายเทียม อนุจารวัฒน์ สามีจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่จัดหาเมทแอมเฟตามีน และนายประยูรหรือเลี๊ยก อนุจารวัฒน์ น้องนายเทียมเป็นผู้จัดหาเมทแอมเฟตามีนจากพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 เป็นคนขับรถของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ส่งเมทแอมเฟตามีนให้ลูกค้า ส่วนจำเลยที่ 4 เกี่ยวข้องอยู่กับกลุ่มบุคคลเหล่านี้ โดยเป็นผู้รับผิดชอบขนเมทแอมเฟตามีนและขายให้ลูกค้าในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง นายสุขุมได้รับรายงานแล้วได้ตรวจสอบการเงินของจำเลยที่ 2 พบว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2538 บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 มีจำนวนเงินหมุนเวียนหลายล้านบาท เมื่อจำเลยเหล่านี้ได้รับเงินมาจะดำเนินการฟอกเงินโดยนำเงินไปซื้อที่ดินต่อมาวันที่ 14 สิงหาคม 2538 เจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการปราบปราบยาเสพติดสืบทราบว่านายประยูรจะขนเมทแอมเฟตามีนจากกรุงเทพมหานครไปส่งให้ลูกค้าที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จึงตรวจค้นเพื่อจับกุมแต่นายประยูรรู้ตัวก่อนจึงไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 4 ทำหน้าที่จัดหาเมทแอมเฟตามีนนำไปส่งให้ลูกค้าและเก็บเงินแทนนายประยูร ต่อมานายวิฑูรย์สืบทราบว่าในวันที่ 18 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 4 นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้ลูกค้าที่อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในวันที่ 20 ธันวาคม 2538 จำเลยที่ 2 จะนำเงินไปชำระค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 และจะซื้อเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 2,000 ถุง ประมาณ 400,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 ในจำนวนนั้นจำเลยที่ 4 จะซื้อจำนวน 1,000 ถุง โดยนัดพบกันที่ร้านอาหารหนองโสน ริมถนนสายเอเชีย อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงแจ้งให้นายสุขุม นายสิทธิศักดิ์และร้อยตำรวจเอกพรชัยทราบและติดตามดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 กับพวก ในวันที่ 20 ธันวาคม 2538 นายสิทธิศักดิ์ไปเฝ้าดูพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ร้อยตำรวจเอกพรชัยเฝ้าติดตามจำเลยที่ 4 เวลา 12.30 นาฬิกา นายสิทธิศักดิ์เห็นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุไปรับจำเลยที่ 3 ที่โรงแรมสุขสำราญ แล้วจำเลยที่ 3 ขับรถยนต์คันดังกล่าวพาจำเลยที่ 2 ไปที่ร้านอาหารหนองโสน ต่อมาเวลา 14.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู หมายเลขทะเบียน 5 ศ-1529 กรุงเทพมหานคร ไปพบจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ร้านดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 พากันไปที่ลานจอดรถ จำเลยที่ 3 ยกกล่องกระดาษสีน้ำตาลจากรถยนต์ของจำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 นำไปใส่ท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 นายสิทธิศักดิ์กับพวกจึงเข้าตรวจค้นพบเงินสดจำนวน 12,997,000 บาท บรรจุในกล่องกระดาษดังกล่าว เงินสดจำนวน 1,500,000 บาท ในถุงกระดาษสีน้ำตาลและเงินสดจำนวน 945,320 บาท ในถุงพลาสติกสีขาวในรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ในวันเดียวกันร้อยตำรวจเอกพรชัยเฝ้าสังเกตการณ์จำเลยที่ 4 ที่บ้านของจำเลยที่ 4 จนกระทั่งเวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยที่ 4 ขับรถยนต์ยี่ห้อซีตรองมุ่งหน้าไปทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร้อยตำรวจเอกพรชัยขับรถยนต์ติดตามไป เมื่อจำเลยที่ 4 ขับรถใกล้จะถึงร้านอาหารหนองโสนได้เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาเพื่อจะเลี้ยวเข้าร้านอาหารดังกล่าว แต่ขณะนั้นเจ้าพนักงานกำลังตรวจค้นจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อยู่ จำเลยที่ 4 จึงขับรถผ่านไป ร้อยตำรวจเอกพรชัยวิทยุแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงสกัดจับจำเลยที่ 4 ได้ที่ด่านเก็บเงินบางปะอิน ตรวจค้นรถยนต์ของจำเลยที่ 4 พบเงินสดจำนวน 8,000,000 บาท อยู่ในกระเป๋าพลาสติก เงินสดจำนวน 619,000 บาท อยู่ในถุงกระดาษสีน้ำตาลที่ท้ายรถยนต์ของจำเลยที่ 4 เงินสดจำนวน 650,000 บาท ในกระเป๋าเอกสารโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกียหมายเลข 9873029 และกระดาษบันทึกตัวเลขแสดงการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเอกสารหมาย จ.25 นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสรยุทธ เมธีวิสัย เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเบิกความว่า ได้รับคำสั่งจากนายสุขุมให้ไปตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 4 พบกระดาษซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนอยู่ภายในห้องนอนของจำเลยที่ 4 ในระหว่างนั้นภริยาจำเลยที่ 4 ฉีกกระดาษหลายแผ่นทิ้งลงในถังขยะ นายสรยุทธจึงเก็บเศษกระดาษเหล่านั้นมาต่อกันจนได้ข้อความครบจำนวน 5 แผ่น ตามเอกสารหมาย จ.14 มีข้อความคล้ายกับเอกสารหมาย จ.25 เห็นว่า นายวิฑูรย์และร้อยตำรวจเอกพรชัยติดตามพฤติการณ์ความเคลื่อนไหวของจำเลยทั้งสี่เป็นเวลานานหลายเดือนต่างก็รายงานข้อมูลของจำเลยที่ 2 กับพวกให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกระยะตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.13 และ จ.40 ถึง จ.43 มีการบันทึกข้อมูลที่รายงานนั้นลงไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นจำนวนมากตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.26 ผลของการเฝ้าสังเกตและติดตามจำเลยทั้งสี่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานทราบว่าผู้ที่รับซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ใดบ้างและอยู่ที่ใด จนกระทั่งเจ้าพนักงานสามารถติดตามไปจับกุมบุคคลหลายคนที่ซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสี่ได้ หากจำเลยทั้งสี่มิได้ติดต่อกับบุคคลต่างๆ ซึ่งอยู่ตามจังหวัดต่างๆ หลายแห่งต่างพื้นที่กันเพื่อค้ายาเสพติดให้โทษ เจ้าพนักงานก็คงไม่สามารถไปติดตามจับกุมบุคคลเหล่านั้นได้ประกอบกับบัญชีเงินฝากในธนาคารของจำเลยที่ 2 เคลื่อนไหวด้วยและจำนวนเงินสูงจึงเป็นการสนับสนุนพยานหลักฐานของโจทก์ให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น การที่เจ้าพนักงานสืบสวนจนได้ความว่าจำเลยทั้งสี่นัดส่งมอบเงินและยาเสพติดให้โทษกันที่ร้านอาหารหนองโสนตามวันเวลาที่เกิดเหตุ และเจ้าพนักงานติดตามไปตรวจค้นและจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ที่ร้านอาหารดังกล่าวนั้น และจับกุมจำเลยที่ 4 ได้ที่ด่านเก็บเงินบางปะอิน และถึงแม้เจ้าพนักงานมิได้ค้นพบยาเสพติดให้โทษอยู่ที่ตัวจำเลยทั้งสี่ก็ตามก็คงเป็นเพราะจำเลยทั้งสี่มีวิธีการซื้อขายและส่งมอบยาเสพติดให้โทษที่มีแผนการและขั้นตอนเพื่อป้องกันตัวเองให้อยู่ห่างจากยาเสพติดให้โทษนั่นเอง เจ้าพนักงานจึงค้นพบเพียงเงินสดจำนวนมากซึ่งรวมกันเป็นเงิน 26,181,320 บาท ทั้งยังพบเอกสารหลายแผ่นมีข้อความและตัวเลขแสดงถึงการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนประกอบกับในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ขายเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในการรับซื้อเมทแอมเฟตามีน พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้มั่นคงว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันสมคบโดยตกลงกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จริง ที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า การจับกุมจำเลยทั้งสี่ไม่ชอบ เพราะไม่มีการขออนุมัติจับกุมตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ก่อนจับกุมจำเลยทั้งสี่ นายสุขุมได้มีหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเพื่อขออนุมัติจับกุมจำเลยทั้งสี่ เนื่องจากจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้มีคำสั่งอนุมัติให้จับกุมจำเลยทั้งสี่แล้ว ในวันที่ 20 ธันวาคม 2538 ตามเอกสารหมาย จ.21 ดังนั้น การจับกุมจำเลยทั้งสี่โดยเจ้าพนักงานดังกล่าวจึงเป็นการจับกุมตามที่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามกฎหมายโดยชอบแล้ว และที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยที่ 1 ไม่ชอบเพราะไม่มีหมายจับนั้น เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสี่เพราะเจ้าพนักงานได้สืบทราบว่าจำเลยทั้งสี่จะส่งมอบเงินกันเพื่อชำระค่าเมทแอมเฟตามีนที่ค้างอยู่จำนวนหนึ่งและเพื่อชำระค่าเมทแอมเฟตามีนที่จะซื้อขายกันใหม่อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานเห็นจำเลยที่ 3 ยกกล่องกระดาษไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดและเกิดขึ้นซึ่งหน้าเจ้าพนักงานการจับกุมจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (1) ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากการสอบสวนไม่ชอบเพราะพนักงานสอบสวนในคดีนี้มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในเขตท้องที่ใดมีพนักงานสอบสวนหลายคน การดำเนินการสอบสวนให้อยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทนจะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคดีอาญาจะต้องเป็นพนักงานสอบสวนผู้เป็นหัวหน้าในท้องที่นั้นหรือผู้รักษาการแทนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 ได้บัญญัติให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนผู้เกี่ยวข้องให้สอบสวนคดีได้แล้ว นอกจากนั้นพันตำรวจเอกเชาวลิต ชนะโชติ หัวหน้าพนักงานสอบสวนได้ตรวจสำนวนการสอบสวนและสอบสวนเพิ่มเติมคดีนี้แล้ว การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสี่มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
อนึ่ง ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาขอให้รอการลงโทษในข้อหาตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ นั้นเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share