คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การตีความสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 คือต้องถือหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายจะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ นอกจากนี้การตีความสัญญายังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ด้วย เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของข้อความในสัญญา ศาลจึงต้องแสวงหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายโดยค้นหาเอาจากข้อความในสัญญาทั้งฉบับ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันหลังจากทำสัญญานั้นด้วย จะถือเอาแต่เพียงชื่อของสัญญาเป็นเกณฑ์เด็ดขาดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ได้ จากข้อความในสัญญาเห็นได้ว่าข้อความในสัญญาโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีความหมายไม่ชัดเจนว่าเป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงโดยเด็ดขาดหรือเป็นแต่เพียงสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทป 1 ต้นแบบ หรือ 1 เวอร์ชั่น หาได้มีข้อความชัดเจนดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันหลังจากทำสัญญานั้นประกอบกับพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสี่แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญาเป็นสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทป 1 ต้นแบบ หรือ 1 เวอร์ชั่นเท่านั้น มิได้มีเจตนาทำสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าวกันแต่อย่างใด ลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้นจึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อลิขสิทธิ์ในดนตรีกรรมคือเพลงทั้งสิบสี่เพลงตามคำฟ้องยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 มิได้โอนไปเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันผลิตมาสเตอร์เทปเพลงทั้งสิบสี่เพลงดังกล่าวเป็น 3 ชุด ซึ่งเป็นคนละเวอร์ชั่นกับมาสเตอร์เทปที่จำเลยที่ 1 โอนขายให้แก่โจทก์ ย่อมมิใช่การดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตามคำฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 69 วรรคสอง และ 74
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูบ ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองเพลงชื่อ ร้อยบุปผา ฝากไว้ให้คิดถึง แรงเทียน รักที่อยากลืม พี่ชาย สวรรค์ชั้นเจ็ด กลกามแห่งความรัก สวรรค์บ้านนอก กำลังใจ รอยอดีต เพลงพิณ ออนซอนเด ฝากเพลงถึงเธอ และบินหลา รวม 14 เพลง ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมเกี่ยวกับเพลงดังกล่าวและเพลงช้างรวม 15 เพลง ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ได้ค่าตอบแทนจำนวน 360,000 บาท และเงินจากการจำหน่ายเทปเพลงข้างต้นตั้งแต่ม้วนที่ 30,000 บาท เป็นต้นไป อีกม้วนละ 12 บาท ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 หลังจากทำสัญญาแล้วโจทก์ผลิตเทปเพลงชุดฝากไว้ให้คิดถึงตามวัตถุพยานหมาย จ.2 ออกจำหน่ายแก่คนทั่วไป ครั้นวันที่ 1 กันยายน 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างผลิตมาสเตอร์เทปเพลงให้แก่จำเลยที่ 2 รวม 4 ชุด ตามสัญญาเอกสารหมาย ล.9 โดยเพลงชุดแรก “ฝากไว้ให้คิดถึง” ตามซีดีเพลงวัตถุพยานหมาย ล.33 มีเพลงรอยอดีต ร้อยบุปผา บินหลา สวรรค์บ้านนอก ออนซอนเด แรงเทียน รักที่อยากลืม และฝากไว้ให้คิดถึง เพลงชุดที่สอง “ครั้งหนึ่งความเป็นมา” ตามซีดีเพลงวัตถุพยานหมาย ล.34 มีเพลงกำลังใจ เพลงพิณ และฝากเพลงถึงเธอ และเพลงชุดที่สี่ “ฉันมาจากฟ้าสีทอง” ตามซีดีเพลงวัตถุพยานหมาย ล.36 มีเพลงพี่ชาย กลกามแห่งความรัก และสวรรค์ชั้นเจ็ด ซ้ำกับเพลงที่โจทก์ทำสัญญาไว้กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ส่วนเพลงชุดที่สาม “เลือดและน้ำตา” ตามซีดีเพลงวัตถุพยานหมาย ล.35 ไม่มีเพลงใดซ้ำกับเพลงที่โจทก์ทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ไว้กับจำเลยที่ 1 เพลงที่ทำซ้ำขึ้นดังกล่าวนี้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับร้อง บริษัท ไอ.ฟินิกซ์ จำกัด เป็นผู้ทำดนตรีและให้ใช้ห้องบันทึกเสียง ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ผลิตเทปเพลงและซีดีเพลงข้างต้นออกวางจำหน่าย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สัญญาโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมลงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 ตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 3 มีข้อความโดยสรุปว่า จำเลยที่ 1 ผู้โอนตกลงโอนลิขสิทธิ์ในงานเพลงทั้งสิบสี่เพลงตามคำฟ้องกับเพลงช้างให้แก่โจทก์ตลอดอายุของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำ ถ่าย อัดเพลงและเสียงขับร้องลงในแถบบันทึกเสียงแม่แบบ (มาสเตอร์เทป) จำนวน 1 ชุด ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น เพื่อโจทก์จะได้นำไปจัดทำ ถ่าย อัด บันทึกเสียงลงในแถบบันทึกเสียง หรือโสตทัศนวัสดุแล้วนำออกเผยแพร่หรือจัดเผยแพร่ จำหน่าย จ่ายโอน และแจกแก่สาธารณชนในทางการประกอบอาชีพ ในสัญญาดังกล่าว ข้อ 5 ระบุว่า จำเลยที่ 1 สัญญาว่าไม่เคยทำ (ที่ถูกไม่เคยทำ) ลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าวและแม่แบบแถบบันทึกเสียง (มาสเตอร์เทป) ไปโอนและมอบให้ผู้ผลิตผู้ใดจัดทำแถบบันทึกเสียงและขับร้องเพลงตามสัญญานี้มาก่อนทั้งต่อไปจะไม่ยอมมอบให้ผู้ใดและหรือสนับสนุนให้ไปจัดทำเองเพื่อจำหน่าย จ่าย แจก ขาย อันเป็นการแข่งขันทางการค้ากับโจทก์ จากข้อความในสัญญาฉบับนี้นายสุวาณิชย์ กรานพิกุล ทนายโจทก์ซึ่งเคยไปเจรจากับจำเลยทั้งสี่มาแล้วเบิกความว่า จำเลยทั้งสี่ได้อ่านสัญญาเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จำเลยทั้งสี่โต้แย้งว่าเป็นสัญญาซื้อขายมาสเตอร์เทป ไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์ นายบุญชัย เชื้อมั่นคง ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดของโจทก์ก็เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องยอมรับว่าตามสัญญาฉบับนี้ไม่แน่ใจว่าลิขสิทธิ์ในงานเพลงทั้งสิบสี่เพลงตามคำฟ้องตกเป็นของโจทก์แล้วหรือไม่ พยานโจทก์อีกคนหนึ่งคือนายประทีป บุญยโพธิกุล ก็ตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า เงินจำนวน 360,000 บาท ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ไม่ใช่ค่าตอบแทนในการโอนลิขสิทธิ์ แต่เป็นเงินให้ไปทำมาสเตอร์เทป คำเบิกความของนายประทีปดังกล่าวสอดคล้องกับคำเบิกความของนายวิทยา กีฬา กรรมการบริหารสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยพยานจำเลยที่ 1 ที่มีความเห็นว่าเงินจำนวนนี้น่าจะเป็นเงินค่าใช้จ่ายในการผลิตมาสเตอร์เทปเพราะเป็นเงินจำนวนค่อนข้างน้อย และการที่โจทก์ให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการจำหน่ายเทปตั้งแต่ม้วนที่ 30,000 บาท เป็นต้นไป ในอัตราม้วนละ 12 บาท แก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 4.1 ด้วย ยิ่งทำให้เข้าใจว่าสัญญาดังกล่าวมิใช่สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าวแต่เป็นเพียงสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทปเท่านั้น เพราะถ้าหากเป็นการโอนขายลิขสิทธิ์เด็ดขาดโจทก์ก็ไม่จำต้องให้ผลประโยชน์ตอบแทนในส่วนนี้อีก และนายวิทยาเบิกความอีกว่าในกรณีที่ผู้โอนต้องจัดทำมาสเตอร์เทปด้วย ในวงการเพลงถือว่าเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิ 1 ครั้ง ใน 1 ต้นแบบหรือ 1 เวอร์ชั่น นายสุรินทร์ ภาคศิริ นักแต่งเพลงกรรมการสมาคมดนตรีแหงประเทศไทยและสมาคมนักแต่งเพลงแห่งประเทศไทยพยานจำเลยที่ 1 ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทป ไม่ใช่การขายหรือโอนลิขสิทธิ์โดยเด็ดขาดดังที่โจทก์เข้าใจ นอกจากนี้ถ้าสัญญาโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรม ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 ตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาที่จำเลยที่ 1 โอนขายลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวโดยเด็ดขาดให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์อุทธรณ์แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์จะต้องทำสัญญาซื้อลิขสิทธิ์ในงานเพลงร้อยบุปผา กำลังใจ แรงเทียน ออนซอนเด รอยอดีต และสววรค์บ้านนอกจากจำเลยที่ 1 ซ้ำอีกตามสัญญาโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมลงวันที่ 18 มีนาคม 2539 เอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญาโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความชัดเจนแล้วว่าโจทก์เป็นผู้รับโอนลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม โจทก์จึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานเพลงตามสัญญา จะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นั้น เห็นว่า การตีความตามสัญญาต้องเป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 368 คือต้องถือตามหลักตามความเข้าใจของทั้งสองฝ่าย จะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไมได้ นอกจากนี้การตีความสัญญายังต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 ด้วย เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายของข้อความในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 ศาลจึงต้องแสดงหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายโดยค้นหาเอาจากข้อความในสัญญาทั้งฉบับ รวมทั้งพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันหลังจากทำสัญญานั้นด้วย จะถือเอาแต่เพียงชื่อของสัญญาเป็นเกณฑ์เด็ดขาดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ได้ จากข้อความในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวข้างต้นเห็นได้ว่าข้อความในสัญญาโอนลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 มีความหมายไม่ชัดเจนว่าเป็นสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงโดยเด็ดขาดหรือเป็นแต่เพียงสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทป 1 ต้นแบบ หรือ 1 เวอร์ชั่น หาได้มีข้อความชัดเจนดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ข้อความในสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และพฤติการณ์ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ปฏิบัติต่อกันหลังจากทำสัญญานั้น ประกอบกับพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยทั้งสี่ดังได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาโอนขายมาสเตอร์เทป 1 ต้นแบบหรือ 1 เวอร์ชั่น เท่านั้น มิได้มีเจตนาทำสัญญาโอนขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงดังกล่าวกันแต่อย่างใด ลิขสิทธิ์ในงานเพลงนั้นจึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อลิขสิทธิ์ในดนตรีกรรมคือเพลงทั้งสิบสี่เพลงตามคำฟ้องยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 มิได้โอนไปเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันผลิตมาสเตอร์เทปเพลงทั้งสิบสี่เพลงดังกล่าวเป็น 3 ชุด ซึ่งเป็นคนละเวอร์ชั่นกับมาสเตอร์เทปที่จำเลยที่ 1 โอนขายให้แก่โจทก์ ย่อมมิใช่การดัดแปลงงานดนตรีกรรมอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดตามคำฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share