แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีและภริยากันได้ร่วมกับนายฉายซื้อที่ดินพิพาท โดยใส่ชื่อนายฉายเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายฉายได้โอนที่ดินใส่ชื่อจำเลยแต่ผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทโจทก์และจำเลยไม่ได้ร่วมกันซื้อ แต่นายฉายเป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว และภายหลังต่อมาได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ดังนั้น ประเด็นที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวและจำเลยได้มาโดยการซื้อร่วมกับโจทก์หรือได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากนายฉาย จึงเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทจำเลยรับโอนมาจากนายฉายโดยเสน่หาและเป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และจำเลยได้ร่วมกับนายฉายซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 19688 โดยโจทก์และจำเลยให้นายฉายเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายฉายได้โอนที่ดินดังกล่าวใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ หลังจากนั้นที่ดินแปลงดังกล่าวถูกเวนคืนโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โจทก์จึงได้ลงชื่อในหนังสือยินยอมให้จำเลยทำการโอนที่ดินให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โจทก์ได้ตรวจสอบจากสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว ปรากฏว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 3 แปลง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเกินไปกว่าที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบ ซึ่งจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบเพียงว่าจะโอนขายให้แก่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเท่านั้น ขอให้บังคับให้จำเลยนำโฉนดที่ดินเลขที่ 19688 ไปยังสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของหรือถือกรรมสิทธิ์ร่วม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ขอให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวไว้ต่อศาลเพื่อโจทก์จะได้นำไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 19688 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว โจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวอริษาบุตรของโจทก์กับนางเจียนยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีและภริยากันได้ร่วมกับนายฉายซื้อที่ดินพิพาท โดยใส่ชื่อนายฉายเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ต่อมานายฉายได้โอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อจำเลยแต่ผู้เดียว ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรส จำเลยได้ยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทโจทก์และจำเลยไม่ได้ร่วมกันซื้อ แต่นายฉายเป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว และภายหลังต่อมาได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา จึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย ดังนั้น คดีย่อมมีประเด็นว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวและจำเลยได้มาโดยการซื้อร่วมกับโจทก์หรือได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากนายฉาย ซึ่งเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทจำเลยรับโอนมาจากนายฉายโดยเสน่หาและเป็นสินสมรสจึงมิใช่เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.