แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า จำเลยออกคำสั่งที่ 6/2525ยกเลิกคำสั่งที่ 63/2517 โดยโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย จำเลยอุทธรณ์ว่า ตามพฤติกรรมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมด้วยในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวแล้ว เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลแรงงานกลางเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 จำเลยออกคำสั่งที่ 6/2525 ยกเลิกคำสั่งที่ 63/2517 โดยมิได้ยื่นข้อเรียกร้องและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ จึงเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20คำสั่งที่ 6/2525 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ ต้องบังคับตามคำสั่งที่ 63/2517.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เข้าทำงานเมื่อวันที่1 เมษายน 2506 ครั้งสุดท้ายดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสงานอำนวยการสำนักงานกฎหมาย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,200 บาทและเงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 22,600 บาทเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยเหตุเกษียณอายุตามคำสั่งที่ 1051/2534 โจทก์ได้รับเงินซึ่งจำเลยระบุว่าเป็นเงินชดเชยจำนวน 621,600 บาท และเงินบำเหน็จพิเศษจำนวน 69,043.06 บาทรวมเป็นเงิน 690,643.06 บาท ความจริงเงินจำนวน 621,600 บาทเป็นเงินบำเหน็จตามคำสั่งของจำเลยที่ 63/2517 ซึ่งถูกยกเลิกโดยคำสั่งของจำเลยที่ 6/2525 มิใช่ค่าชดเชย สำหรับเงินจำนวน69,043.06 บาท มิใช่เงินบำเหน็จพิเศษ หากแต่เป็นเงินสะสมที่จำเลยออกแทนพนักงานทุกคนโดยหักเป็นเกณฑ์เฉลี่ยในอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือน จำเลยออกให้แทนและเก็บไว้จ่ายให้เมื่อพนักงานออกจากงานตามคำสั่งที่ 63/2517 ข้อ 13 โจทก์ออกจากงานโดยเหตุเกษียณอายุโจทก์มีสิทธิได้รับบำเหน็จและข้อ 18 โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีกส่วนหนึ่ง หากพนักงานของจำเลยรวมทั้งโจทก์ทำงานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่จำเลยกำหนดให้จ่ายเพียง 3 เดือน ซึ่งมิได้เป็นไปตามกฎหมาย แม้จำเลยยกเลิกคำสั่งที่ 63/2517 และใช้คำสั่งที่ 6/2525 แทนก็ไม่อาจทำให้คำสั่งที่ 63/2517 เสื่อมเสียไปเพราะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีผลใช้บังคับแล้วและเป็นสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่โจทก์ โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี ขึ้นไป จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 135,600 บาท และจำเลยต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างทันที เมื่อจำเลยไม่จ่ายให้โจทก์ถือว่าผิดนัดจำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,813.75 บาท
จำเลยให้การว่า คำสั่งที่ 63/2517 ได้ถูกยกเลิกโดยคำสั่งที่6/2525 แม้คำสั่งที่ 6/2525 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเมื่อจำเลยออกคำสั่งดังกล่าวแล้ว พนักงานทั้งหลายรวมทั้งโจทก์ได้ยึดถือและปฏิบัติตามยอมรับประโยชน์จากคำสั่งที่ 6/2525ไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือคัดค้านเป็นเวลาเกือบ 10 ปีมาแล้ว แสดงให้เห็นว่าได้รับการยินยอมจากลูกจ้างแล้ว เป็นสภาพการจ้างที่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นค่าชดเชยมิใช่เงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 63/2517 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยออกคำสั่งที่ 6/2525 ยกเลิกคำสั่งที่ 63/2517 โดยลูกจ้างของจำเลยมิได้ตกลงยินยอมด้วยและจำเลยมิได้แจ้งข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 แม้โจทก์และลูกจ้างอื่นของจำเลยทราบคำสั่งที่ 6/2525 แล้วไม่มีผู้ใดคัดค้านก็ตามจะถือเอาปริยายว่าลูกจ้างของจำเลยตกลงยินยอมแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างด้วยแล้วหาได้ไม่ คำสั่งที่ 6/2525 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ ต้องบังคับตามคำสั่งที่ 63/2517 เงินจำนวน621,600 บาท ไม่เป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยออกคำสั่งที่ 6/2525 ยกเลิกคำสั่งที่ 63/2517 โดยโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าตามพฤติกรรมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้ความยินยอมในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลแรงงานกลาง เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
จำเลยอุทธรณ์อีกประการหนึ่งว่า คำสั่งที่ 6/2525 ของจำเลยเป็นคำสั่งที่จำเลยประกาศใช้บังคับ มิได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 19 และ 20 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 การที่จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามคำสั่งที่ 63/2517 ด้วยการประกาศใช้คำสั่งที่ 6/2525 จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 แต่ประการใด นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำสั่งที่63/2517 นั้น กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินบำเหน็จ เงินชดเชยและเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้าง ถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยกับลูกจ้าง ข้อบังคับนี้ได้ใช้บังคับกับลูกจ้างแล้วจำเลยจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือออกคำสั่งใหม่อันจะมีผลให้ลูกจ้างต้องเสียประโยชน์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหาได้ไม่ตามคำสั่งที่ 63/2517 เมื่อโจทก์ออกจากงานโดยเกษียณอายุ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จคำนวณโดยเอาจำนวนปีที่ทำงานคูณกับอัตราค่าจ้างสุดท้าย เศษของปีถ้าเกินกว่า 6 เดือนให้ถือเป็น 1 ปีนอกจากได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายอีก 6 เดือน คำสั่งนี้ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี2517 แต่ตามคำสั่งที่ 6/2525 ซึ่งเริ่มใช้ในเดือนมกราคม 2525นั้น ได้ยกเลิกคำสั่งที่ 63/2517 เมื่อลูกจ้างออจากงานโดยเกษียณอายุลูกจ้างมีสิทธิเพียงได้รับค่าชดเชย คำนวณจ่ายเช่นเดียวกับเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 63/2517 แต่ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเช่นที่เคยได้ เมื่อเปรียบเทียบคำสั่งทั้งสองดังกล่าวแล้วเห็นได้ชัดแจ้งว่า คำสั่งที่ 6/2525 ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายนอกเหนือจากที่จะได้รับเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 63/2517 เมื่อจำเลยออกคำสั่งที่ 6/2525 โดยมิได้ยื่นข้อเรียกร้องและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ จึงเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.