แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นลูกจ้างประจำของวิทยาลัยครูซึ่งสังกัดอยู่กับโจทก์ทำหน้าที่ยามรักษาการณ์และรักษาความปลอดภัยจำเลยมีหน้าที่เข้าเวรตั้งแต่เวลา24นาฬิกาถึง6นาฬิกาวันรุ่งขึ้นปรากฏว่ามีคนร้ายงัดหน้าต่างเข้าไปลักเอาเครื่องอัดสำเนาเอกสารในอาคารหลังหนึ่งซึ่งมีเวรประจำตึกเฝ้าอยู่1คนโดยยังมีอาจารย์เวรและอาจารย์ผู้ตรวจเวรคอยดูแลตรวจตราอีกชั้นหนึ่งตามระเบียบผู้อยู่เวรประจำตึกมีสิทธินอนได้ส่วนยามต้องตรวจตราทั่วบริเวณไม่มีสิทธินอนพักจนกว่าจะออกเวรยามจะต้องตรวจตราความเรียบร้อยตลอดเวลาเมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าหลังจากจำเลยได้เข้ารับเวรต่อจากผลัดก่อนแล้วนั้นจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องสำรวจพื้นที่และทรัพย์สินในอาคารให้ครบทั้ง30อาคารซึ่งโดยวิสัยของผู้มีหน้าที่อยู่ยามที่ต้องดูแลบริเวณที่มีพื้นที่ถึง150ไร่และมีอาคารถึง30อาคารขณะที่มีการเข้าเวรเพียงผลัดละ2คนทั้งไม่มีระเบียบชัดแจ้งให้กระทำการดังกล่าวจำเลยไม่น่าจะต้องใช้ความระมัดระวังถึงระดับนั้นอีกทั้งของอาจจะหายในช่วงการอยู่เวรยามของผลัดก่อนก็ได้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหายไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำทำหน้าที่ยามรักษาการณ์ อยู่ที่วิทยาลัยครูพระนครศีรอยุธยาซึ่งสังกัดอยู่กับโจทก์ จำเลยทั้งสองได้เข้าเวรยามรักษาการณ์อยู่ที่วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาและมีหน้าที่ต้องตรวจตราดูและทรัพย์สินของวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา ให้อยู่ในความเรียบร้อยแต่จำเลยทั้งสองกลับปล่อยปละละเลยไม่ตรวจตราระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เครื่องอัดสำเนาเอกสาร จำนวน 7 เครื่อง ราคา 98,182 บาทถูกคนร้ายลักไป การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน98,182 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในหลักเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มีอยู่ว่าผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่าประมาทเลินเล่อไว้ คงมีแต่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่ บัญญัติว่า”กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนาแต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”นอกจากนี้ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525ได้ให้ความหมายของคำว่าประมาทไว้ว่า หมายถึงขาดความรอบคอบขาดความระมัดระวัง หรือความเลินเล่อ กล่าวโดยสรุปก็คงมีความหมายว่า การขาดความระมัดระวังนั่นเองวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาของโจทก์มีเนื้อที่ประมาณ150 ไร่ มีอาคารอยู่ประมาณ 30 หลัง ทรัพย์สินที่เสียหายเก็บไว้ในอาคาร 2 ซึ่งมีเวรประจำตึกเฝ้าอยู่ 1 คนนอกจากนี้มีอาจารย์เวรและอาจารย์ผู้ตรวจเวรคอยดูแลตรวจตราอีกชั้นหนึ่ง ผู้อยู่เวรประจำตึกมีสิทธินอนได้ ส่วนยามต้องตรวจทั่วบริเวณไม่มีสิทธินอนพักจนกว่าจะออกเวร มีประตูอยู่ทั้งสี่ทิศ แต่เปิดใช้เป็นทางเข้าออกทิศเดียว คือ ทิศเหนือซึ่งติดถนนโรจนะ มียามผลัดกันเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมงส่วนประตูอื่นไม่มียาม ระเบียบว่าด้วยการอยู่เวรยามของโจทก์ข้อ 19 กำหนดอำนาจหน้าที่ให้ยามถือปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 19.7 ยามต้องตรวจตราความเรียบร้อยตลอดเวลา และข้อ 19.8 ให้ยามอยู่ประจำทางเข้าออกประตูหน้าที่วิทยาลัยขณะเปิดปิดประตูอยู่อย่างน้อย 1 คน ตลอดเวลา เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่าจำเลยทั้งสองเข้ารับเวรต่อจากนายประสิทธิ์และนายกฤษณะขณะที่จำเลยทั้งสองรับมอบเวรได้บันทึกว่า “เหตุการณ์ปกติ”โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ก่อนจะรับมอบเวรและบันทึกเช่นนั้น จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องสำรวจพื้นที่และทรัพย์สินในอาคารให้ครบทั้ง 30 อาคาร โดยวิสัยของผู้มีหน้าที่ยามซึ่งต้องดูแลบริเวณที่มีพื้นที่และอาคารมากขนาดนี้ขณะที่มีการเข้าเวรเพียงผลัดละ 2 คน ทั้งไม่มีระเบียบชัดแจ้งให้กระทำการดังกล่าว จำเลยทั้งสองไม่น่าจะต้องใช้ความระมัดระวังถึงระดับนั้น ด้วยเหตุนี้จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองประมาทเลินเล่อ ทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์เสียหาย ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นค่าเสียหาย
พิพากษายืน