แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเฮโรอีนออกนอกประเทศ โดยจำเลยที่ 1พกติดตัวไป 3 ก้อน จำเลยที่ 2 พกติดตัวไป 9 ก้อน จำเลยทั้งสองนั่งรถแท็กซี่คันเดียวกันไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพเพื่อเดินทางออกนอกประเทศโดยเครื่องบินลำเดียวกัน ทั้งสองคนถูกจับในเวลาไล่เลี่ยกันขณะอยู่ห่างกัน 40 เมตร ดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันกระทำผิดในกรรมเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 2 เคยถูกโจทก์ฟ้องและมีคำพิพากษาถึงที่สุดในกรรมนี้ไปแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้อีกจึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)ศาลชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่ 2.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเฮโรอีน 3 แท่ง หนัก 684กรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันพยายามนำเฮโรอีนดังกล่าวออกนอกราชอาณาจักรขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65, 66ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 90
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 65, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,83, 90 ลงโทษตามมาตรา 66 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53, 78 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี ริบเฮโรอีนของกลางคำขอนับโทษต่อสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4113/2530ของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘การที่จำเลยที่ 1 ได้มีการติดต่อกับจำเลยที่ 2 ก่อนเกิดเหตุ โดยไปหาที่ห้องพักของจำเลยที่ 2หลายครั้ง และการที่จำเลยทั้งสองต่างให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนว่าได้ร่วมกันเพื่อพาเฮโรอีนออกนอกประเทศ โดยแบ่งแยกหน้าที่กันทำ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 นำติดตัวไป 3 ก้อน จำเลยที่ 2นำติดตัวไป 9 ก้อนแล้วพากันขึ้นรถแท็กซี่ไปยังท่าอากาศยานกรุงเทพพร้อมกันดังโจทก์ฎีกา รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ได้ความจากนายพิสิษฐ์ ฉ่อนเจริญ นายตรวจศุลกากร 4 ผู้ทำการตรวจค้นจำเลยทั้งสองที่ท่าอากาศยานกรุงเทพว่า ลักษณะของเฮโรอีนที่ซุกซ่อนมีลักษณะอันเป็นแท่งไล่เลี่ยกัน ห่อหุ้มด้วยพลาสติกใสและใช้เทปกาวพันกับร่างกายในลักษณะเหมือนกัน และจากการตรวจสอบเอกสารหนังสือเดินทางกับตั๋วเครื่องบิน ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกำลังจะเดินทางไปประเทศไต้หหันโดยสารการบินไทยเที่ยวทีจี 630เที่ยวเดียวกัน การตรวจค้นและจับได้ก็อยู่ในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นแต่เพียงจำเลยที่ 2 ถูกจับที่ห้องผู้โดยสารขอออกหลังจากทำการตรวจเอกสารต่างๆ จากพนักงานสายการบินแล้วส่วนจำเลยที่ 1 จับได้โดยทราบจากพนักงานการบินไทยว่าคนทั้งสองมาด้วยกัน นายพิสิษฐ์จึงตามไปจับขณะผ่านการตรวจประทับตราหนังสือเดินทางจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองแล้ว จุดที่จับก็ห่างกันเพียง 40 เมตร พฤติการณ์ดังกล่าวแล้วนี้ล้วนแสดงชัดว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเพื่อจะนำเฮโรอีนออกนอกประเทศดังโจทก์ฎีกา แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองมีเจตนาร่วมกันกระทำผิดในการกระทำดังกล่าวครั้งคราวเดียวกัน กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันเพื่อจะนำเฮโรอีนจำนวนเดียวกันออกนอกประเทศเพียงแต่แบ่งแยกหน้าที่กันซุกซ่อนโดยจำเลยที่ 1 นำไปซุกซ่อนในร่างกาย 3 ก้อน ส่วนจำเลยที่ 2 นำไปซุกซ่อนในร่างกาย 9ก้อน จำเลยทั้งสองหาได้ต่างคนต่างมีเจตนาที่จะร่วมกันนำเฮโรอีนแต่ละจำนวนออกนอกประเทศไม่ เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการรวมกันกระทำผิดในกรรมเดียวกันเช่นนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถูกโจทก์ฟ้องและมีคำพิพากษาถึงที่สุดในกรรมที่ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ไปแล้วปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4113/2530 ของศาลชั้นต้น คดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 นี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) เพราะเหตุได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เฉพาะตัวจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.