แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 27 บัญญัติให้คำนวณในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และให้เริ่มคำนวณเงินเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี และในกรณีที่มีการผ่อนชำระภาษีค้าง เงินเพิ่มดังกล่าวจึงลดลงเป็นสัดส่วนกับภาษีอากรที่ค้างชำระ โจทก์นำคดีมาฟ้องมีรายการภาษีค้างชำระ 1,363,492.11 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย)ย่อมต้องถือว่า ณ วันฟ้องนั้นเอง โจทก์นำมูลหนี้จำนวน1,363,492.11 บาทมาฟ้องให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย โจทก์มิได้คำนวณเงินเพิ่มมาให้ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่สามารถคำนวณได้ในวันฟ้อง และแม้ว่าโจทก์จะยื่นคำแถลงถึงเงินเพิ่มที่จำเลยต้องชำระแต่ก็มิได้แก้ไขคำฟ้องให้ปรากฏ ดังนี้ การฟ้องล้มละลายต้องถือมูลหนี้ในวันที่ฟ้องคดี ซึ่งระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างดังกล่าวแก่โจทก์ครบถ้วนแล้วเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นภายหลังวันฟ้องจำนวน 227,118.54 บาท จึงไม่ใช่มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องให้ล้มละลายเพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ทั้งหมดเช่นคดีแพ่งทั่วไป ลูกหนี้จึงนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดแล้ว ชอบที่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายวีระชัย ตันติกุล ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเนื่องจากมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เสียภาษีอากรไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงตรวจสอบการเสียภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างปี 2525 ถึงปี 2527 จำเลยที่ 1 เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงทำการประเมินใหม่ กล่าวคือ ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2525 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2525 จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีอากร 535,094.93 บาท เบี้ยปรับ 535,094.93 บาทกับเงินเพิ่มซึ่งคำนวณถึงวันที่ 31 มีนาคม 2529 เป็นเงิน272,898.28 บาท รวมเป็นเงินภาษีอากรทั้งสิ้น 1,343,088 บาทในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2526 ถึงวันที่ 31ธันวาคม 2526 จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มเติม 28,829.59บาท กับเงินเพิ่มซึ่งคำนวณถึงวันที่ 30 เมษายน 2531 เป็นเงิน20,324.68 บาท รวมเป็นเงินภาษีอากรทั้งสิ้น 49,154 บาทในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2527 ถึงวันที่ 31ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มเติม13,507.52 บาท กับเงินเพิ่มซึ่งคำนวณถึงวันที่ 30 เมษายน2531 เป็นเงิน 7,091.35 บาท รวมเป็นเงินภาษีอากรทั้งสิ้น20,598 บาท เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งการประเมินภาษีอากรให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีอากรดังกล่าวเฉพาะรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2525 และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ แต่ให้ลดยอดภาษีเงินได้นิติบุคคลคงเหลือภาษีอากรที่ต้องชำระทั้งสิ้น 1,342,787 บาท เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินตัดค่าใช้จ่ายสูงไป เจ้าพนักงานประเมินแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว ทั้งได้แจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ทราบ แต่จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวอีก หนี้ภาษีอากรดังกล่าวจึงเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,412,539 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์ 23,864 บาท กับเจ้าพนักงานของโจทก์ยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดได้เงินอีก25,182.89 บาท คงเหลือหนี้ภาษีอากรค้างชำระทั้งสิ้น 1,363,492.11บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) โจทก์มีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวคนละ 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระและปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ ส่วนจำเลยที่ 2 ออกไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องบังคับจำนองยึดที่ดินจำนวน 4 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าจำนวนหนี้ตามฟ้องรวมเงินเพิ่มแล้วหรือไม่ จึงไม่อาจทราบจำนวนหนี้ที่ต้องชำระที่แน่นอนได้ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวเพราะยังประกอบกิจการค้าและมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด โดยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1ในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างปี 2525 ถึงปี 2527 จำเลยที่ 1เป็นหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลคงเหลือหนี้ภาษีอากรค้างชำระทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,363,492.11 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย)ในระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยทั้งสองได้ผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์แถลงว่ายังมีหนี้ค่าภาษีอากรคงค้างที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชอบซึ่งเป็นเงินเพิ่มตามกฎหมายนับถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2538 เป็นเงิน277,118.54 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ชำระ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวและมีเหตุควรให้ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่า เงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากรมาตรา 27 บัญญัติให้คำนวณเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับและในวรรคสามของมาตราดังกล่าวให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี ในกรณีที่ได้มีการผ่อนชำระภาษีค้างเงินเพิ่มดังกล่าว จึงลดจำนวนลงเป็นสัดส่วนกับภาษีอากรที่คงค้างชำระ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องมีรายการภาษีค้างชำระ 1,363,492.11 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย)ย่อมต้องถือว่า ณ วันฟ้องนั้นเอง โจทก์นำมูลหนี้จำนวน 1,363,492.11 บาท มาฟ้องให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย แม้เงินเพิ่มดังกล่าวอาจคำนวณได้อัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของยอดหนี้ที่ค้างแต่โจทก์ยังมิได้คำนวณมาให้ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่สามารถคำนวณได้ในวันฟ้อง แม้โจทก์จะยื่นคำแถลงว่าเมื่อคำนวณเงินเพิ่มตามมาตรา 27แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 1,640,610.94 บาท ก็ตาม แต่ ณวันที่ 10 สิงหาคม 2538 จำเลยมีเงินเพิ่มที่ต้องชำระจำนวน227,118.54 บาท โจทก์ก็มิได้แก้ไขคำฟ้องให้ปรากฏ ปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องของจำเลยลงวันที่ 8 สิงหาคม 2537 จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์คงเหลือเงินตามหนังสือสำนักงานสรรพากรอำเภอเมืองฉะเชิงเทราเป็นเงิน 1,240,610.65บาท ตามเอกสารท้ายคำร้องลงวันที่ 5 สิงหาคม 2537 ซึ่งโจทก์ก็แถลงไม่คัดค้าน และปรากฏต่อมาว่าจำเลยได้ผ่อนชำระเงินให้โจทก์ต่อมาอีก 400,000 บาท 350,000 บาท และสำนักงานสรรพากรอำเภอเมืองฉะเชิงเทราแจ้งว่า ยังมีภาษีอากรที่ค้างชำระอีก490,610.95 บาท ตามคำร้องลงวันที่ 7 ตุลาคม 2537 และต่อมาจำเลยนำเงินมาชำระอีก 150,000 บาท 50,000 บาท และครั้งสุดท้าย13,492 บาท ซึ่งมากกว่าที่สำนักงานสรรพากรอำเภอเมืองฉะเชิงเทราแจ้งให้จำเลยทราบเสียอีก ดังนั้น ที่โจทก์อ้างว่ามีเงินเพิ่มค้างชำระอีกนั้น น่าจะเป็นเรื่องเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการชำระหนี้แต่ละครั้งหลังจากฟ้องคดีนี้แล้ว จนถึง ณ วันที่ 10สิงหาคม 2538 การฟ้องให้ล้มละลายต้องถือมูลหนี้ในวันที่ฟ้องคือวันที่ 6 สิงหาคม 2536 การที่มีเงินเพิ่มในระหว่างฟ้องคดีถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2538 เป็นมูลหนี้นอกเหนือจากฟ้อง ไม่ใช่มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องให้ล้มละลายเพราะมิใช่เป็นการฟ้องขอให้ชำระหนี้ทั้งหมดเช่นคดีแพ่งทั่วไป ดังนี้ จำเลยจึงนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน