แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การซื้อขายข้าวเปลือกราคาเกินกว่า 500 บาท เมื่อจำเลยตวงข้าวไปจากโจทก์แล้ว ถือว่าได้มีการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 456 วรรคสองแล้ว แม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ก็ฟ้องเรียกราคาข้าวจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(2)ที่ห้ามมิให้นำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารนั้นต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกราคาข้าวที่ขายให้จำเลยโดยไม่ต้องมีเอกสารเป็นหนังสือมาแสดง แม้เอกสารจะมีข้อความว่า “รับฝากข้าวเปลือก” โจทก์ก็นำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าเป็นเรื่องซื้อขายข้าวกัน
จำเลยที่ 2 กระทำในนามผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้เอาตราของบริษัทจำเลยที่ 1 มาตีประทับด้วย ถือว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ซื้อข้าวไปจากโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซื้อเชื่อข้าวเปลือกเจ้าจากโจทก์ ดังนี้ จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ผู้ประกอบกสิกรรมฟ้องเรียกเอาค่าผลิตผลแห่งกสิกรรมที่ได้ขายให้จำเลยซึ่งเป็นบริษัทโรงสี กรณีไม่เข้าอยู่ในบังคับแห่งอายุความ 2 ปี อายุความจึงมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคท้าย
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2500 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อข้าวเปลือกจ้าวของนายโกร๋ยโจทก์จำนวน 7 เกวียน ราคา 7,000 บาท โดยสัญญาว่าจะชำระเงินให้ในเดือนกันยายน 2500 โจทก์ส่งมอบข้าวให้จำเลย ครั้นถึงเดือนกันยายน 2500 โจทก์ไปขอรับเงิน จำเลยไม่มีเงินชำระ โจทก์ถือว่าจำเลยผิดนัด จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2500 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปีเศษโจทก์ขอคิดเอาเพียง 5 ปี เป็นเงิน 2,625 บาท และเนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้สมคบกันฉ้อโกงโจทก์โดยจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และสมยอมกันให้จำเลยที่ 3 โอนกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปเป็นของจำเลยที่ 3 ฉะนั้น ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดด้วย จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 9,625 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 7,000 บาทตั้งแต่วันฟ้อง ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2-3 ชำระแทน
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2502 จำเลยที่ 1 ได้ซื้อข้าวเปลือกจ้าวของนายสละโจทก์เป็นจำนวน 30 เกวียน 92 ถัง ราคา 35,558 บาท โดยสัญญาจะชำระเงินให้ในเดือนกันยายน 2502 โจทก์ได้ส่งมอบข้าวดังกล่าวให้จำเลยครั้นถึงเดือนกันยายน 2502 โจทก์ไปขอรับเงินจำเลยไม่มีเงินชำระให้โจทก์ โจทก์ถือว่าจำเลยผิดนัด จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2502 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน เป็นเงิน 9,556 บาทให้โจทก์ และเนื่องจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้สมคบกันฉ้อโกงโจทก์โดยจดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 1 และสมยอมให้จำเลยที่ 3 โอนกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ไปเป็นของจำเลยที่ 3 ฉะนั้น ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการและจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 ต้องร่วมกันรับผิดด้วย จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 45,114 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 35,558 บาท ตั้งแต่วันฟ้อง ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2, 3 ชำระแทน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การต่อสู้ทั้งสองสำนวนมีใจความว่าเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2500 จำเลยที่ 1 ไม่เคยซื้อเชื่อข้าวเปลือกจ้าวของโจทก์และไม่เคยสัญญาว่าจะชำระเงินให้ในเดือนกันยายน 2500 และเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2502 จำเลยที่ 1 ไม่เคยซื้อเชื่อข้าวเปลือกเจ้าของโจทก์ และไม่เคยสัญญาว่าจะชำระเงินให้ในเดือนกันยายน 2502 หากจะมีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 2 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ได้สมยอมกับผู้ถือหุ้นโอนกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ทั้งหมดแต่ผู้เดียว คดีโจทก์ทั้งสองสำนวนขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
นายแหลมจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีสองสำนวนว่า จำเลยรับฝากข้าวเปลือกจากโจทก์ไว้จริง แต่โจทก์ได้มาคิดเอาเงินราคาข้าวเปลือกไปจากจำเลยหมดสิ้นแล้ว ทั้งระยะเวลาที่ฝากข้าวถึงบัดนี้ก็เป็นเวลา 6 ปีและ 4 ปีแล้ว แต่โจทก์มิได้คืนใบรับฝากข้าวให้จำเลย จึงขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อข้าวเปลือกจ้าวจากนายโกร๋ยโจทก์ 7 เกวียนเป็นเงิน 7,000 บาท และซื้อจากนายสละโจทก์ 30 เกวียน 92 ถัง เป็นเงิน 35,558 บาทและยังไม่ได้ชำระราคาค่าข้าวดังกล่าวให้ผู้ขาย แต่เห็นว่าคดีที่นายโกร๋ยเป็นโจทก์ฟ้อง คดีขาดอายุความฟ้องร้องแล้ว ส่วนคดีที่นายสละเป็นโจทก์ยังไม่ขาดอายุความและเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไปซื้อข้าวดังกล่าวจากโจทก์เป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นเพียงกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัวพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าข้าวเปลือก และดอกเบี้ยตามฟ้องรวมทั้งสิ้น 45,114 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในต้นเงิน 35,558 บาท ตั้งแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่นายสละโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 104/2506 โดยยกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 102/2506 ที่นายโกร๋ยเป็นโจทก์ทั้งหมด และให้ยกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 104/2506 เฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสีย
นายโกร๋ย สิงสอน โจทก์อุทธรณ์ และบริษัทโรงสีสุวรรณบวร จำกัดจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืน
บริษัทโรงสีสุวรรณบวร จำกัด จำเลยที่ 1 ฎีกา
นายโกร๋ยโจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การซื้อขายข้าวเปลือกจ้าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งมีราคาเกินกว่า 500 บาท ไม่ได้ทำเป็นหนังสือ โจทก์จะฟ้องร้องขอให้บังคับคดีหาได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรค 2, 3 ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยได้ตวงเอาข้าวดังกล่าวจากโจทก์ทั้งสองสำนวนไปแล้ว ถือได้ว่าได้มีการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรค 2 แล้ว ฉะนั้นถึงแม้จะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ก็ฟ้องเรียกราคาค่าข้าวเปลือกจากจำเลยได้
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ได้เขียนไว้ว่ารับฝากข้าวเปลือก โจทก์นำสืบว่ากรณีเป็นเรื่องการซื้อขายหาได้ไม่ เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรค 2 ศาลฎีกาเห็นว่า ถึงแม้ในเอกสารจ.1 และ จ.2 จะมีข้อความว่า “รับฝากข้าวเปลือก” โจทก์ก็นำพยานบุคคลมาสืบว่า ความจริงเป็นเรื่องซื้อขายข้าวได้ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(2) ที่ห้ามไม่ให้นำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารนั้น ต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น แต่คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเรียกราคาข้าวที่ขายให้จำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องมีเอกสารเป็นหนังสือมาแสดง ฉะนั้นข้อนำสืบของโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า กรณีเป็นเรื่องจำเลยซื้อข้าวเปลือกจ้าวจากนายโกร๋ยโจทก์จำนวน 7 เกวียน คิดราคาเป็นเงิน 35,558 บาท และจำเลยยังไม่ได้ชำระราคาค่าข้าวเปลือกดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นายแหลมจำเลยที่ 2 รับข้าวของโจทก์ทั้งสองสำนวน ไว้เป็นส่วนตัว แต่อำพรางว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามบริษัทจำเลยที่ 1 บริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 กระทำในนามของผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ทั้งยังได้เอาตราของบริษัทจำเลยที่ 1 ตีประทับด้วย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้จัดการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ซื้อข้าวของโจทก์ทั้งสองสำนวนแทนจำเลยที่ 1 ฉะนั้น จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะตามฟ้องของโจทก์เข้าใจไม่ได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานซื้อเชื่อหรือรับฝาก ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ทั้งสองสำนวนบรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยซื้อเชื่อข้าวเปลือกจ้าวจากโจทก์ทั้งสองสำนวนจำเลยสามารถเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ตามฎีกาของนายโกร๋ยโจทก์ ที่ฎีกาว่าคดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่า ทางพิจารณาฟังได้ว่านายโกร๋ยเป็นผู้ประกอบกสิกรรม ฟ้องเรียกเอาค่าผลิตผลแห่งกสิกรรมที่ได้ขายให้จำเลย และกรณีไม่เข้าอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี อายุความจึงมีกำหนด 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 วรรคท้าย แต่ทางพิจารณาปรากฏว่านับแต่วันจำเลยผิดนัดไม่ชำระราคาค่าข้าวให้โจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปีกว่าแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน