คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

มูลคดีแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะเกี่ยวเนื่องกับที่พนักงานอัยการได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีหน้าที่ดูแลและป้องกันมิให้ผู้ใดบุกรุกที่ดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์จึงเป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้นเท่ากับพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาที่จำเลยเป็นผู้เสียหายนั่นเองการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46ที่ฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองแก่ส. ผู้แจ้งการครอบครองแม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทจากส. และครอบครองต่อมาก็ไม่ได้สิทธิครอบครองการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2532 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 101ตำบลบ้านโต้น อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นซึ่งปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น มาจากนายสิงห์ รัตนเมือง เจ้าของเดิม หลังจากนั้นโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์เรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 12 กรกฎาคม 2532จำเลยที่ 2 โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ให้จำหน่ายส.ค.1 ของที่ดินดังกล่าวออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณะ ตามคำสั่งที่ ข.ก.18/2/11 ลงวันที่3 มกราคม 2526 ได้มีคำสั่งว่าโจทก์บุกรุกและบังคับให้โจทก์ออกจากที่ดินดังกล่าว กับให้โจทก์ปรับคันดินที่โจทก์ขุดลอกทำขึ้นกลับคืนให้ที่ดินอยู่ในสภาพเดิม โดยจำเลยทั้งสองมิได้ทำการสอบสวนสิทธิของโจทก์ และไม่เคยพิสูจน์ว่าที่ดินดังกล่าวได้มีการครอบครองทำประโยชน์มานานเพียงใด เป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ ข.ก.18/2/11 ลงวันที่ 3 มกราคม 2526ที่ให้จำหน่าย ส.ค.1 เลขที่ 101 ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืนจังหวัดขอนแก่น ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดิน และห้ามจำเลยทั้งสองเข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของหนองน้ำสาธารณแก่งกุดโดก ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันที่ทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้แล้ว แม้นายสิงห์ รัตนเมือง ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของเดิมหรือโจทก์ซึ่งอ้างว่าซื้อต่อมาจากนายสิงห์จะได้ครอบครองทำประโยชน์โดยได้แจ้งการครอบครองไว้ ก็ไม่ทำให้ได้สิทธิครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ก่อนที่จำเลยที่ 1จะมีคำสั่งเพิกถอนแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ฉบับดังกล่าวคณะกรรมการที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของจำเลยที่ 1ได้ตรวจสอบแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหนองน้ำสาธารณะแก่งกุดโดก จำเลยที่ 1 จึงได้ออกคำสั่งไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนายสิงห์ทราบคำสั่งแล้วมิได้โต้แย้งคัดค้านโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเพิ่งซื้อที่ดินพิพาทมาหลังจากจำเลยที่ 1มีคำสั่งให้เพิกถอน ส.ค.1 แล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1ที่ข.ก.18/2/11 ลงวันที่ 3 มกราคม 2526 ที่ให้จำหน่ายแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 101 ตำบลบ้านโต้นอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ออกจากทะเบียนการครอบครองที่ดินห้ามจำเลยทั้งสองรบกวนการครอบครองที่ดินดังกล่าวของโจทก์ต่อไป
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า ศาลจะฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1385/2534 ของศาลชั้นต้น มาผูกพันโจทก์ในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ได้หรือไม่โจทก์ฎีกาว่า มูลเหตุของการกระทำความผิดฐานบุกรุกในคดีอาญาดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 ได้มีคำสั่งจำหน่าย ส.ค.1ของที่ดินพิพาทแล้ว ซึ่งเมื่อโจทก์บุกรุกทำกินในที่ดินพิพาทจึงมีความผิด มูลเหตุของการกระทำผิดจึงไม่เกี่ยวกับประเด็นว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเพิกถอน ส.ค.1 ของที่ดินพิพาทเป็นการชอบหรือไม่ทั้งคู่ความในคดีอาญาดังกล่าวก็มิใช่คู่ความเดียวกับคดีนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้มูลเหตุและผลแห่งคำพิพากษาคดีอาญามาเป็นข้อชี้ขาดคดีจึงเป็นการคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนั้น เห็นว่า มูลคดีทางแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ ก็คือมูลคดีเกี่ยวกับที่พนักงานอัยการได้ฟ้องร้องโจทก์ในคดีอาญาข้อหาบุกรุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1385/2534 ของศาลชั้นต้น ประเด็นตามคำชี้ขาดของศาลในคดีอาญามีประเด็นอย่างเดียวกับคดีนี้ คือที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือที่ดินสาธารณะ คดีของโจทก์จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โจทก์เป็นคู่ความในคดีอาญานั้น แม้จำเลยทั้งสองจะมิใช่คู่ความในคดีอาญาโดยตรง แต่โดยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองมีหน้าที่ดูแลและป้องกันมิให้ผู้ใดบุกรุกที่ดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้น เท่ากับพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้เสียหายนั่นเอง โจทก์และจำเลยทั้งสองจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าว การวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ได้ความในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณะดังนั้นจึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองแก่นายสิงห์ รัตนเมือง ผู้แจ้งการครอบครอง แม้โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทจากนายสิงห์และครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต่อมา โจทก์ก็หาได้สิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง”
พิพากษายืน

Share