คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มารดาหญิงตกลงยกที่ดินมีโฉนดให้เป็นกองทุน ชายก็มีเงินเป็นกองทุน ดังนี้ เป็นสัญญาต่างตอบแทนไม่ใช่ให้โดยเสน่หา เมื่อสมรสแล้วชายฟ้องบังคับให้โอนโฉนดได้
บุตรเขยฟ้องมารดาของภริยาให้โอนที่ดินกองทุนได้ไม่เป็นอุทลุม
โจทก์สืบพยานได้ 4 ปาก ศาลสั่งงดไม่สืบพยานต่อไปพิพากษายกฟ้อง ในส่วนข้อเท็จจริงวินิจฉัยว่าพยานเบิกความแตกต่างกันฟังไม่ได้ แต่โจทก์ยังขอสืบพยานในข้อเดียวกันและข้ออื่นอีก ศาลจะรู้ได้อย่างไรว่าพยานที่จะสืบต่อไปฟังไม่ได้ จึงต้องให้คู่ความสืบพยานต่อไป แล้วพิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง และยื่นคำร้องแก้ฟ้อง และยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสมพงษ์ สุกโชติรัตน์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ว่าเมื่อเดือน 12 พ.ศ. 2489 โจทก์ได้ทำการสมรสกับนางหวลบุตรของนางแหจำเลยโจทก์เสียเงินสินสอด 600 บาท ค่าทองหมั้น 400 บาท ค่าเรือนหอ 1,000 บาท เงินกองทุน 500 บาท ฝ่ายนางแหจำเลยได้ยกที่นาโฉนดที่ 7946 เนื้อที่ 34 ไร่ 1 งาน 40 วา ตีราคาเป็นเงินกองทุน 500 บาท (เวลานี้มีราคา 9,000 บาท) ให้นางหวลในวันแต่งงานและได้จดทะเบียนสมรสไว้เป็นหลักฐานตามสำเนาทะเบียนสมรสท้ายฟ้องนากองทุนนั้นจำเลยได้นำโฉนดมาทำสัญญามอบสละสิทธิครอบครองให้ไว้ต่อหน้าพยานหลักฐานในวันแต่งงาน จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา เมื่อเดือน 6 ปีนี้ จำเลยลอบเอาโฉนดรายนี้จะไปโอนให้นายใส นางพร แต่การโอนจะขัดข้องประการใดไม่ทราบ จำเลยจึงกลับไปทำพินัยกรรมให้กันไว้อีก โจทก์กับนางหวลได้ใช้สิทธิครอบครองทำนาตลอดมาจนบัดนี้ จำเลยกับพวกทราบว่าโจทก์ฟ้องแล้วเกรงจะถูกบังคับให้โอนที่นาตามฟ้อง จึงสมคบกันทำอุบายเป็นว่า นางแห จำเลยขายที่นารายนี้ให้แก่นายสมพงษ์หลานนางแห โดยนายใสบิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสมพงษ์ทำสัญญาซื้อ และรับแก้ทะเบียนหลังโฉนดแทนนายสมพงษ์ การกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ถือว่าโจทก์ผู้เป็นสามีมีหน้าที่ฟ้องคดีเกี่ยวกับที่นากองทุนรายนี้ ซึ่งเป็นสินบริคณห์ของโจทก์กับภรรยาได้ตามกฎหมาย ขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายหลังโฉนดที่ 7946 ระหว่างนางแห (จำเลย) ผู้ขาย กับนายใส บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสมพงษ์ ผู้ซื้อ และให้จำเลยนำโฉนดไปขอแก้ทะเบียนใส่ชื่อนางหวลภรรยาโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามสัญญาสมรสของโจทก์กับนางหวล หรือให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

นางแหจำเลยให้การและยื่นคำร้องเพิ่มเติมใจความว่า ในวันทำการสมรสฝ่ายโจทก์มีมาแต่เงินสินสอด 600 บาท เงินค่าทองหมั้นเรือนหอและเงินกองทุนโจทก์ไม่นำมา จำเลยจึงไม่ตกลง และไม่ยอมเป็นคู่สัญญาด้วย จำเลยจึงไม่ยอมยกที่นา 34 ไร่ ให้เป็นกองทุนแทนเงิน 500 บาท และได้ตกลงกันให้โจทก์และนางหวลอาศัยทำกินในที่ดินไปก่อน จำเลยไม่ได้ทำสัญญาสละสิทธิครอบครองที่ดินให้ในการสมรสการยกที่ดินให้ต้องทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จึงชอบที่จะขายให้แก่นายสมพงษ์

นายสมพงษ์ สุกโชติรัตน์ อายุ 19 ปี จำเลยร่วม โดยนายใส สุกโชติรัตน์ บิดาผู้แทนโดยชอบธรรมให้การทำนองเดียวกับนางแหจำเลยและว่าได้ซื้อขายที่ดินด้วยความสุจริตมีสินจ้างตอบแทนจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานถูกต้องตามกฎหมาย มิใช่เป็นการสมยอมโจทก์ไม่มีสิทธิจะฟ้อง

ศาลสอบถามคู่ความตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 16 สิงหาคม 2498 โจทก์แถลงว่า 1. เมื่อโจทก์และนางหวลบุตรสาวจำเลยแต่งงานนางหวลเป็นบุคคลบรรลุนิติภาวะแล้ว ที่ดินพิพาทมีโฉนดแล้ว โฉนดที่ 7946 2. ที่โจทก์ว่าจำเลยที่ 1 (นางแห) ได้ทำสัญญามอบสละสิทธิครอบครองให้ไว้ต่อหน้าพยานหลักฐานในวันแต่งงานนั้น คือ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเป็นหนังสือลงลายมือชื่อและมีพยานรับรองด้วยแต่สัญญานั้นทำกันเอง ไม่ได้ทำต่อเจ้าพนักงานและไม่ได้จดทะเบียนจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้ให้นา ตีเป็นราคากองทุน 3. โจทก์ครอบครองที่นามาเป็นเวลายังไม่ถึง 10 ปี คือ ปกครองมาประมาณ 8 ปี6 เดือน ฝ่ายจำเลยแถลงว่าตามที่โจทก์แถลงต่อศาลตามข้อ 1 นั้นเป็นความจริง แต่สำหรับข้อ 2 ไม่เป็นความจริง จำเลยไม่เคยทำสัญญาให้เลย สำหรับข้อ 3 จำเลยรับว่าโจทก์ครอบครองนาพิพาทมา 8 ปี 6 เดือนจริง แต่จำเลยว่าโจทก์อาศัยจำเลย ข้อนี้โจทก์เถียงว่าจำเลยยกให้แล้ว และโจทก์ครอบครองอย่างเจ้าของตลอดมา โจทก์ว่าสำหรับจำเลยที่ 2 (นายสมพงษ์) นั้นโจทก์ถือว่าสมคบกับจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิไม่สุจริตฉ้อโกงโจทก์ แต่จำเลยว่าจำเลยไม่ได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทำไปโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนแล้ว คู่ความแถลงกันดังนี้ ศาลตั้งประเด็นดังนี้ 1. นางแหจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาสละสิทธิครอบครองให้นางหวลไว้ต่อหน้าพยานหลักฐานตีเป็นเงินกองทุนในวันแต่งงานจริงหรือเปล่า 2. ที่โจทก์ครอบครองนาพิพาทนี้เป็นการครอบครองเพื่อตนหรืออาศัยจำเลย 3. การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 นั้น เป็นการสมคบกันใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อฉ้อโกงโจทก์จริงหรือไม่

เมื่อสืบพยานโจทก์ได้ 4 ปาก ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า นางแหจำเลยได้ยกที่ดินให้นางหวลเพื่อเป็นกองทุนแล้วกลับไม่ให้ ไม่ใช่สัญญาต่างตอบแทนดั่งที่โจทก์กล่าวอ้าง อย่างมากเป็นเพียงสัญญาจะให้เท่านั้น และเป็นการให้หรือจะให้นางหวล ไม่ใช่ให้โจทก์ การฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องร้องเรียกสิทธิให้นางหวล แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีใบมอบอำนาจจากนางหวลให้ฟ้องคดีนี้ เห็นว่าไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนนางหวลและโจทก์ไม่ใช่คู่สัญญากับจำเลย จึงไม่มีอำนาจจะฟ้องจำเลย และเห็นว่านางหวลเองก็ไม่มีสิทธิจะดำเนินคดีกับจำเลยผู้เป็นมารดาเพราะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 (อุทลุม) โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะฟ้องคดีนี้ได้ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานโจทก์แตกต่างกันฟังไม่ได้ ไม่ว่าโจทก์จะนำสืบพยานต่อไปให้ได้ความประการใดก็ไม่ทำให้โจทก์ชนะคดีได้ จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับไป

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์อาศัยสิทธิของนางหวลภรรยาฟ้องจำเลยซึ่งเป็นมารดานางหวลไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 นั้น เห็นว่าโจทก์เป็นเพียงบุตรเชย และมีสิทธิจัดการสินบริคณห์ระหว่างโจทก์กับนางหวลภรรยาได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยซึ่งเป็นแม่ยายได้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1391/2497 และที่ 1111/2497 และตามที่ผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายชายฝ่ายหญิงตกลงสัญญาว่า จะให้ทรัพย์เป็นกองทุนในการสมรสแก่คู่สมรสนั้นมิใช่เป็นสัญญายกให้โดยเสน่หา แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามคำพิพากษาฎีกาที่ 295/2491 ฝ่ายใดผิดสัญญาอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องขอให้บังคับตามสัญญาได้ การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานเพียง 4 คนแล้วสั่งตัดพยานโจทก์ งดสืบพยานจำเลยทั้ง ๆ ที่โจทก์อ้างว่ายังมีพยานรู้เห็นในการทำหนังสือสัญญา และในเรื่องความไม่สุจริตของจำเลยอยู่อีกนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้รวมสั่งในตอนพิพากษาใหม่

จำเลยทั้งสองฎีกา วันเดียวกับที่จำเลยยื่นฟ้องฎีกานายสมพงษ์ (จำเลยที่ 2) ยื่นคำร้องว่า เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2479 บัดนี้มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วจึงขอให้สัญญาสัตยาบันการกระทำนิติกรรมและดำเนินคดีที่นายใสสุกโชติรัตน์ บิดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรม และขอดำเนินคดีเองต่อไป ศาลสอบถามทนายฝ่ายจำเลยแถลงว่า ได้ยื่นฎีกาเรื่องนี้แล้วโจทก์จำเลยขอให้งดการพิจารณาไว้ จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งให้งดไว้ตามที่โจทก์จำเลยแถลง

ศาลฎีกาได้ฟังคำแถลง และประชุมพิจารณาแล้ว เห็นด้วยศาลอุทธรณ์ที่ได้วินิจฉัยว่า ตามเรื่องที่ปรากฏมิใช่เรื่องยกให้โดยเสน่หาแต่เป็นสัญญาต่างตอบแทน และมิใช่เป็นเรื่องอุทลุมตามคำพิพากษาฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้างมาชอบด้วยเหตุผลแล้ว และความปรากฏตามรายงานพิจารณาลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2498 ว่า โจทก์แถลงว่าจะสืบนายเจ็ก นายไฝ นายสาย ในข้อที่ว่าจำเลย (หมายความถึงนางแหจำเลย) กับนายพงษ์ (จำเลยร่วม) สมคบกันโอนที่ดินโดยไม่สุจริตฉ้อโกงโจทก์ และในข้อที่โจทก์ปกครองที่พิพาทมา ทั้งรู้เห็นในการตกลงตั้งแต่ต้นมาตลอดจนรู้เห็นในการทำสัญญาด้วยจะสืบนายเพี้ยนปลัดอำเภอบ้านหมอ ในฐานะเป็นผู้จดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์และนางหวล จะสืบนายลอยเรื่องโจทก์เป็นผู้เสียค่าภาษีที่ดิน และในข้อความไม่สุจริตของจำเลย ศาลเห็นว่าตามข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์นำสืบมาแล้วคดีพอวินิจฉัยชี้ขาดได้แล้วจึงให้งดการสืบพยานโจทก์เสีย จำเลยแถลงขอสืบพยานตามข้อต่อสู้และตามที่อ้างไว้ และศาลได้มีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย ข้อนี้พิจารณาเห็นว่า แม้จะปรากฏตามคำพยานโจทก์ที่ได้สืบมาแล้วรวม 4 ปาก ว่าพยานโจทก์ให้การแตกต่างกันดั่งที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาก็ดี แต่ฝ่ายโจทก์ได้แถลงยืนยันว่าจะขอสืบพยานตามข้อที่ได้สืบมาบ้างแล้วและที่ยังไม่ได้สืบต่อไปอีก เมื่อยังมิได้ฟังคำพยานที่โจทก์ขอสืบ จะทราบล่วงหน้าได้อย่างไรว่า พยานที่โจทก์ยังติดใจขอสืบต่อไปจะฟังได้หรือไม่ เห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วจึงพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาคงให้รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่

Share