แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้มีข้อความระบุว่า”ถ้าหากนายพิลาไชยพร (จำเลยที่ 1) นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่นายวิจิตร (โจทก์) เสร็จสิ้นภายในวันที่25 มีนาคม 2536 นายวิจิตรจะไม่ขอคิดดอกเบี้ยแม้แต่บาทเดียวแต่ถ้าผิดนัด นายพิลาไชยพร จะต้องรับผิดตามสัญญาเดิมคือดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อถูกฟ้องศาลบังคับคดีตามฟ้องข้าพเจ้า นายพิลาไชยพร พอใจตามข้อตกลงนี้ จึงได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน” ดังนี้ แม้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 แต่กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/24 จำเลยที่ 1ไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน44,982 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงิน 18,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นลำดับแรกว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.3โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.4 จริงหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่เอกสารหมาย จ.3 โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.4 จริงที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์จะเรียกร้องดอกเบี้ยได้เพียงใด ในข้อนี้จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญาถึงวันฟ้องซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่าที่กฎหมายให้สิทธิที่จะเรียกร้องได้ จำนวนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามคำให้การดังกล่าวกรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยกข้อต่อสู้ว่าดอกเบี้ยค้างชำระขาดอายุความ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ตามเอกสารหมาย จ.3 โดยมีจำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้เอกสารหมาย จ.4 และยังรับฟังได้ต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 จริงดังได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นซึ่งตามหนังสือสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.6 ลงวันที่ 31 มกราคม 2536 มีข้อความระบุไว้ด้วยว่า “ถ้าหากนายพิลา ไชยพร(จำเลยที่ 1) นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่นายวิจิตร (โจทก์)เสร็จสิ้นภายในวันที่ 25 มีนาคม 2536 นายวิจิตรจะไม่ขอคิดดอกเบี้ยแม้แต่บาทเดียวแต่ถ้าผิดนัด นายพิลา ไชยพร จะต้องรับผิดตามสัญญาเดิมคือดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อถูกฟ้องศาลบังคับคดีตามฟ้อง ข้าพเจ้านายพิลา ไชยพร พอใจตามข้อตกลงนี้จึงได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน” ซึ่งจำเลยที่ 1ได้ลงลายมือชื่อรับรองที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ข้างต้น ดังนี้แม้สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 5 ปี จะขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33 (มาตรา 166 เดิม) ก็ตาม แต่กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ได้สละประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24(มาตรา 192 เดิม) จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยค้างชำระได้ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีไว้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจะต้องรับผิดร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน18,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์