คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3787/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ส่งสินค้าลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญไว้ในใบตราส่งด้านหลังซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขและความรับผิดไว้ นอกจากจะเป็นการโอนสิทธิตราสารให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว ยังถือว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดแล้วหากเกิดความเสียหายขึ้นแก่สินค้า ผู้รับขนย่อมต้องรับผิดตามเงื่อนไขที่จำกัดความรับผิดไว้เท่านั้น โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่อาจฟ้องจำเลยผู้รับขนให้รับผิดตามมูลค่าของความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเลร่วมกับบริษัทมาเลเชียอินเตอร์เนชั่นแนล ชิปปิ้งคอร์โปเรชั่นเบอร์ฮาร์ด จำกัด บริษัท เอฟ.อี.ชูล์ลิค (กรุงเทพ) จำกัดได้สั่งซื้อสินค้าเวชภัณฑ์ จากประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน จำนวน19 ลัง ราคา 40,820 มาร์คเยอรมัน สินค้าเหล่านี้บริษัท เอฟ.อี.ชูล์ลิค (กรุงเทพ) จำกัด ได้เอาประกันภัยระหว่างการขนส่งไว้กับโจทก์ ผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยให้เป็นผู้ทำการขนส่งโดยบรรทุกสินค้ามากับเรือซึ่งเดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2527 จำเลยได้จัดการให้การขนถ่ายและส่งมอบสินค้าให้บริษัท เอฟ.อี.ชูล์ลิค (กรุงเทพ) จำกัด ปรากฏว่าลัง บรรจุเวชภัณฑ์แตก 1 ลัง สินค้าที่บรรจุอยู่ภายในสูญหายคิดเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน115,723 บาท ความเสียหายเหล่านี้เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งจากเมื่องฮัมบูร์ก มายังประเทศไทย โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวให้บริษัท เอฟ.อี.ชูล์ลิค (กรุงเทพ) จำกัด จึงรับช่วงสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินจำนวน 115,723 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัยอีกทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินความจริง หากฟังว่าจำเลยจะต้องรับผิดก็ไม่เกินจำนวน 10,812.50 บาท ทั้งนี้เพราะตามใบตราส่งนั้นผู้ว่าจ้างได้ยืนยอมตกลงโดยชัดแจ้งตามเงื่อนไขในใบตราส่งเรื่องข้อจำกัดความรับผิดกล่าวคือ ในใบตราส่งสินค้าพิพาท ผู้รับขนได้จำกัดความรับผิดไว้เพียงจำนวน 10,812.50 บาท ต่อสินค้าหนึ่งชิ้นขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวน 10,812.50บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามที่ได้ระบุไว้ใน ข้อ 30 ด้านหลังใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ.9 ใช้บังคับแก่ผู้ส่งได้หรือไม่ ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าใช้บังคับไม่ได้เพราะผู้ส่งไม่ได้ตกลงด้วยในข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดนั้นโดยชัดแจ้ง การที่ผู้ส่งสลักหลังใบตราส่งสินค้าตามเอกสารหมาย จ.9 ก็เพื่อที่จะโอนสิทธิตราสารให้ผู้รับตราส่งนำไปแลกใบปล่อยสินค้าเพื่อนำไปรับสินค้า ไม่ใช่ผู้ส่งตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิด จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามมติคณะรัฐมนตรีให้เป็นสายการเดินเรือแห่งชาติ จำเลยเป็นผู้ขนส่งของรายพิพาทมาจากบริษัทรานฮานซีติค อินท์ในประเทศเยอรมัน ทำสัญญาว่าจ้างกันที่ประเทศเยอรมันโดยบริษัทผู้ส่งดังกล่าวยินยอมตามเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ระบุไว้หลังใบตราส่งซึ่งกำหนดความรับผิดในการขนส่งไว้หีบห่อละ 100 ปอนด์ ตามความในข้อ 30ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 ผู้ส่งทราบข้อความและตกลงยินยอมตามเงื่อนไขในเอกสารหมาย จ.9 แล้วจึงได้ลงชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทไว้ด้านหลังเอกสารดังกล่าวข้อจำกัดความรับผิดในข้อ 30ตามเอกสารหมาย จ.9 กำหนดขึ้นตามหลักสากลในการเดินเรือระหว่างประเทศซึ่งกระทำขึ้นตามกฎของเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ข้อจำกัดความรับผิดถือเอาปริมาตรของสินค้าเป็นหลัก ไม่ได้ถือเอามูลค่าของสินค้าซึ่งบริษัทประกันภัยเป็นผู้กำหนด ได้ความจากนายกมลสิทธิเกษตริน พยานจำเลยซึ่งเคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม ว่าการขนส่งทางทะเลเป็นการค้าระหว่างประเทศ การทีผู้ขนส่งยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดในความเสียหายหรือสูญหายซึ่งเกิดขึ้นแก่ของที่รับขนจะต้องระบุไว้ชัดแจ้งในใบตราส่ง ข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไม่จำต้องให้ผู้ส่งให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งไว้ในใบตราส่ง ก็ถือว่าข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดในใบตราส่งนั้นมีผลใช้บังคับได้เป็นการปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนในที่สุดได้มีการร่างเป็นอนุสัญญาขึ้น คืออนุสัญญาว่าด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับใบตราส่งหรือเรียกกันทั่วไปว่า เฮกรูลส์ ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวแต่ก็ถือเอาหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้เพราะเป็นหลักสากลที่ถือปฏิบัติกันทั่วไป และได้ความว่าผู้ส่งได้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของผู้ส่งไว้ในด้านหลังใบตราส่งเอกสารหมาย จ.9 แม้โจทก์จะอ้างว่านายสุธรรม จิตรานุ เคราะห์ พยานของจำเลยเบิกความตอบถามค้านว่าผู้ส่งต้องสลักหลังในใบตราส่งเพื่อโอนสิทธิตราสารให้ผู้รับตราส่งนำไปแลกกับใบปล่อยสินค้า เพื่อนำไปรับสินค้า เห็นว่าข้อความในเอกสารหมาย จ.9 ด้านหน้าเป็นใบตราส่งซึ่งแสดงรายการตามแบบของใบตราส่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปให้ปรากฏชื่อผู้ส่ง ผู้รับ จุดหมายปลายทางและค่าระวาง เป็นต้น ส่วนด้านหลังได้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆและความรับผิดไว้ การที่ผู้ส่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญไว้ที่ด้านหลังใบตราส่งนอกจากจะเป็นการถอน สิทธิตราสารให้แก่ผู้รับตราส่งแล้ว ยังถือได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดแล้ว
พิพากษายืน.

Share