คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8047/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจฟ้องในคดีอาญาเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงทำให้บริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันโดยบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1236 (5) และโจทก์ย่อมหมดอำนาจที่จะทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปอีก การจัดการรวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะจัดการแต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 , 24 ทั้งมาตรา 1247 ก็บัญญัติไว้ว่า การชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ ดังนั้นกรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่กลับมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกโดยอาศัยอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1249 เพราะมาตรา 1251 ก็ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้แล้วว่าบริษัทในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี คดีนี้บริษัทโจทก์เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย กรรมการบริษัทโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ชำระบัญชีและไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 1252

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๕๕๔๓๗ เนื้อที่ ๑ งาน ๔๔ ตารางวา เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๐ เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์ด้านทิศตะวันออกเพื่อครอบครองและใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยมีเจตนาเพื่อถือการครอบครองที่ดินของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๓๖๒ , ๓๖๕
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๕ (๓) วางโทษจำคุก ๙ เดือน จำเลยนำสืบรับว่าได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์จริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องคดีอาญา อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕ โดยข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ประกอบคำเบิกความของนายมานพ พลจันทร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดเมื่อปี ๒๕๒๖ และมีคำพิพากษาให้โจทก์ล้มละลายเมื่อปี ๒๕๒๘ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ล. ๓๒๐/๒๕๒๖ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้วจึงทำให้บริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันโดยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๓๖ (๕) และโจทก์ย่อมหมดอำนาจที่จะทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปอีก การจัดการรวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ย่อมตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะจัดการแต่ผู้เดียวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๔ ทั้งเมื่อบริษัทโจทก์เป็นอันเลิกกันเพราะเหตุล้มละลายดังกล่าวแล้ว จึงทำให้อำนาจของกรรมการบริษัทโจทก์ย่อมหมดสิ้นไปด้วย อำนาจและหน้าที่ที่จะทำแทนบริษัทโจทก์ตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๑ ในระหว่างที่บริษัทโจทก์ล้มละลาย นายสุธี นันทิวัชรินทร์ และนางฤดี ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา ซึ่งเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ก่อนบริษัทโจทก์ล้มละลายร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้นายมานพเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าขณะนายสุธีและนางฤดีลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้นายมานพฟ้องคดีนี้นั้น ทั้งนายสุธีและนางฤดีมิได้อยู่ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกแล้ว นายสุธีและนางฤดีจึงไม่มีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้นายมานพเป็นผู้ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ นายมานพจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ที่โจทก์แก้ฎีกาอ้างว่า แม้บริษัทโจทก์จะล้มละลาย แต่ยังไม่มีการชำระบัญชีและยังไม่ตั้งผู้ชำระบัญชี บริษัทโจทก์จึงยังไม่เลิกกันนั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๙ จะบัญญัติว่า บริษัทแม้จะได้เลิกกันแล้วก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี แต่มาตรา ๑๒๔๗ ก็บัญญัติไว้ว่า การชำระบัญชีบริษัทจำกัดซึ่งล้มละลายนั้น ให้จัดทำไปตามบทกฎหมายลักษณะล้มละลายที่คงใช้อยู่ตามแต่จะทำได้ คือให้อำนาจจัดการทรัพย์สินตลอดจนการชำระบัญชีของบริษัทโจทก์ที่ล้มละลาย รวมทั้งการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ไม่ทำให้นายสุธีและนางฤดีกรรมการบริษัทโจทก์กลับมีอำนาจทำการแทนบริษัทโจทก์ได้อีกโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๔๙ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๑ ก็ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้แล้วว่า บริษัทในเมื่อเลิกกันเพราะเหตุอื่นนอกจากล้มละลาย กรรมการของบริษัทย่อมเข้าเป็นผู้ชำระบัญชี คดีนี้บริษัทโจทก์เลิกกันเพราะเหตุล้มละลาย กรรมการบริษัทโจทก์คือนายสุธีและนางฤดีจึงหาใช่ผู้ชำระบัญชีตามบทบัญญัติของกฎหมายมาตราดังกล่าว จึงไม่มีอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๕๒ ที่บัญญัติให้กรรมการบริษัทมีอำนาจโดยตำแหน่งเดิมฉันใด เมื่อเป็นผู้ชำระบัญชีก็ยังคงมีอำนาจอยู่ฉันนั้น เมื่อนายมานพไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ คดีจึงไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง.

Share