คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2495

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องหาว่า จำเลยขนสุราเกิน 1 ลิตรเข้าไปในเขตที่กำหนดไว้ในกระทรวงฉะบับที่อ้างนั้น ได้ถูกกฎกระทรวงฉะบับหลังยกเลิกเสียแล้ว ก่อนที่จำเลยกระทำการขนสุรา ดังนี้ (แม้กฎกระทรวงฉะบับหลังจะได้กำหนดเขตเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่เฉพาะเขตที่จำเลยกระทำผิด ไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม) ก็ต้องถือเท่ากับไม่ได้อ้างกฎกระทรวงฉะนั้นฟ้องของโจทก์ จึงบกพร่องในการอ้างกฎกระทรวง ซึ่งบัญญัติถึงการฝ่าฝืนของจำเลยอันจะเกิดเป็นความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ต้องยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง และจำเลยรับ ฟังได้ว่าจำเลยขนสุรารัฐบาลจำนวน ๓ ลิตร ๗๕ เซ็นติลิตร โดยสารรถไฟจากจังหวัดพระนคร นำไปลงที่สถานนีรถไฟเชียงราก จังหวัดปทุมธานี โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษ พ.ร.บ.สุรา ๒๔๙๓ มาตรา ๑๕, ๓๘ และ กฎกระทรวงการคลังฉะบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๓)
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ยังไม่ผิดตาม พ.ร.บ.สุรา ๒๔๙๓ มาตรา ๑๕ จึง พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้ฟ้องโจทก์อ้าง พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.๒๔๙๓ มาตรา ๑๕, ๓๘ และกฎกระทรวงการคลังฉะบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๓) ซึ่งมาเป็นบทลงโทษ แต่กฎกระทรวงการคลังฉะบับที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๙๓) นี้ได้มี กฎกระทรวงการคลังฉะบับที่ ๑๖ (พ.ศ.๒๔๙๔) ให้ยกเลิกสียแล้ว ตามวันที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดและตามวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง จึงหามีกฎกระทรวงการคลังฉะบับที่ ๖ นี้ไม่ การที่โจทก์อ้างกฎกระทรวงซึ่งขณะฟ้องถูกเลิกหรือไม่มีแล้ว ก็มีผลเท่ากับไม่ได้อ้าง และกฎกระทรวงการคลังในเรื่องนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.สุรา ก็เป็นบทบัญญัติที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือมิได้กระทำผิด โดยจำเลยจะต้องฝ่าฝืนกฎกระทรวงจึงจะเกิดความผิด ลำพังบทบัญญัติใน พ.ร.บ.สุรา ๒๔๙๓ จะทราบไม่ได้เลยว่าจำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง หรือไม่เมื่อฟ้องโจทก์บกพร่องในการอ้างกฎกระทรวงซึ่งบัญญัติถึงการฝ่าฝืนของจำเลยอันจะเกิดเป็นความผิดเช่นนี้ ก็เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๕๘ (๕) จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

Share