คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8028/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้อำนวยการกองอาคารสถานที่ของโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบในการทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดศ. โดยจำเลยเป็นผู้รับหนังสือค้ำประกันมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดศ.เพื่ออ้างอิงว่ามีหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่ผู้รับจ้างต้องนำมาเป็นหลักประกันในการทำสัญญาจ้างและต้องลงรายการของหนังสือค้ำประกันแล้วแต่จำเลยไม่ได้ทำการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันเท่าที่ควรจะกระทำเช่นตรงช่องรายการ”ตามสัญญาจ้าง”ของหนังสือค้ำประกันไม่มีเลขที่ของสัญญาจ้างคงมีแต่วันที่ของสัญญาจ้างเท่านั้นและในหนังสือค้ำประกันของธนาคารสัญญาลงวันที่27พฤษภาคม2530แต่ตรงช่องรายการ”ตามสัญญาจ้างสธ.32/2530″กลับลงวันที่เป็น”วันที่28พฤษภาคม2530″ซึ่งหากเป็นสัญญาในวันที่ลงในหนังสือค้ำประกันวันที่27พฤษภาคม2530แล้วจะไปค้ำประกันสัญญาจ้างลงวันที่28พฤษภาคม2530ซึ่งยังไม่ได้ทำสัญญาจ้างกันเลยได้อย่างไรเมื่อหนังสือค้ำประกันของธนาคารมีพิรุธจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องตรวจสอบว่าทำไมหนังสือค้ำประกันจึงมีพิรุธเช่นนี้หรือสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับตรวจสอบเอกสารนี้ให้ปรากฏความจริงเสียก่อนและหากยังเป็นที่สงสัยอยู่อีกจำเลยก็ต้องตรวจสอบไปยังธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวนั้นว่าได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจริงหรือไม่เพราะสัญญาค้ำประกันมีมูลค่าสูงถึง20,000,000บาทการละเลยของจำเลยเช่นนี้จึงถือว่าจำเลยประมาทเลินเล่อไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่แล้วจำเลยจะอ้างว่าในขณะทำสัญญาจ้างและขณะนำหนังสือค้ำประกันมาประกอบสัญญาจ้างไม่มีระเบียบให้ต้องตรวจสอบไปยังธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 16 เมษายน 2530 ถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2530 โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการก่อสร้างหอพักนักศึกษาและหอพักพยาบาลซึ่งในการว่าจ้างนี้โจทก์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นหลักประกันสัญญาจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพจำกัดสำนักงานใหญ่ ปลอมจำนวน 2 ฉบับ มามอบให้โจทก์เป็นหลักประกันสัญญาจ้าง หนังสือค้ำประกันปลอมดังกล่าวมีร่องรอยพิรุธ แต่จำเลยซึ่งมีหน้าที่รับเอกสารดังกล่าวกลับรับไว้โดยไม่ตรวจสอบความถูกต้องและไม่ตรวจสอบไปที่ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันก่อน จึงเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการหยุดงานก่อสร้าง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด นำเงินค่าปรับจำนวน1,034,500 บาท มาชำระให้โจทก์ แต่ธนาคารปฏิเสธไม่ชำระเงินให้โดยแจ้งว่าไม่เคยออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าว จึงทำให้โจทก์ไม่สามารถปรับผู้ค้ำประกันตามสัญญาจ้างได้ ทั้งนี้เพราะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลย จึงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 1,034,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวและดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 1,344,850 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินต้น 1,034,500 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การจัดทำสัญญาจ้างและรับหนังสือค้ำประกันเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2521 ซึ่งระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดให้มีการตรวจสอบหนังสือค้ำประกัน หนังสือค้ำประกันของธนาคารทั้งสองฉบับไม่มีพิรุธตามที่โจทก์อ้างจำเลยย่อมไม่สามารถทราบได้ว่าหนังสือค้ำประกันดังกล่าวปลอม การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยจึงมิได้เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,034,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการก่อสร้างหอพักนักศึกษา 1 หลัง ในราคา5,990,000 บาท และหอพักพยาบาล 3 หลัง ในราคา 14,700,000 บาทตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 และจ.4 ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด ตามเอกสารหมายจ.5 เป็นเงิน 299,500 บาท และ จ.6 เป็นเงิน 735,000 บาทมอบให้โจทก์ไว้เป็นหลักประกัน ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาและแจ้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามหนังสือค้ำประกัน ปรากฏว่าหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เป็นเอกสารปลอมเป็นเหตุให้โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากธนาคารกรุงเทพ จำกัดไม่ได้
สำหรับประเด็นที่ว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่จำเลยฎีกาว่า ก่อนโจทก์ทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4ไม่มีระเบียบหรือข้อกำหนดใด ๆ ของโจทก์ที่กำหนดให้จำเลยต้องตรวจสอบไปยังธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันว่าเป็นหนังสือค้ำประกันปลอมหรือไม่ จนวันที่ 6 กรกฎาคม 2531 สำนักนายกรัฐมนตรีจึงมีหนังสือเวียนเกี่ยวกับการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันตามหนังสือเวียนสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 6กรกฎาคม 2531 เอกสารหมายล.1 สำหรับหนังสือเวียนของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่8 มกราคม 2495 เอกสารหมาย จ.7 นั้น มีเพียงว่าให้สอบสวนถึงหลักฐานและฐานะของคู่สัญญาหรือผู้ค้ำประกันเท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยไม่ได้ตรวจสอบไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด ว่าหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 เป็นหนังสือค้ำประกันที่ธนาคารออกให้จริงหรือไม่ จึงจะฟังว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ได้เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ซึ่งมีนางสาวงามตาม โนนเขวาพนักงานธุรการ 3 ของโจทก์เบิกความว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6มาให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยได้มอบเอกสารดังกล่าวให้พยานเพื่อประกอบเข้าชุดสัญญาและนายวิชัย ณีรัตนพันธ์อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ประธานคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางแพ่งของโจทก์เบิกความว่าในการทำสัญญาจ้างก่อสร้างมีระเบียบของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีวางไว้ว่าต้องตรวจสอบหนังสือค้ำประกันของผู้รับจ้างด้วยตามหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเอกสารหมาย จ.7 และนายณรงค์ พจนานนท์ หัวหน้างานวินัยและนิติกรของโจทก์เบิกความว่า จำเลยไม่ศึกษางานและวางมาตรการป้องกันความเสียหายในการทำสัญญาจ้างก่อสร้างจึงถือว่าจำเลยประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามบันทึกเอกสารหมาย จ.9 แล้ว แสดงว่าจำเลยซึ่งมีหน้าที่จัดทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการโดยจำเลยเป็นผู้รับหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดศิลปการเพื่ออ้างอิงว่ามีหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่ผู้รับจ้างต้องนำมาเป็นหลักประกันในการทำสัญญาจ้างและต้องลงรายการของหนังสือค้ำประกันแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ทำการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 เท่าที่ควรจะทำเลย เช่นในข้อ 1. ตรงช่องรายการ “ตามสัญญาจ้าง” ของหนังสือค้ำประกันเอกสารหมายจ.5 ไม่มีเลขที่ของสัญญาจ้างอยู่เลย คงมีแต่วันที่ของสัญญาจ้างเท่านั้น และในหนังสือค้ำประกันของธนาคารเอกสารหมาย จ.6 สัญญาลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2530 แต่ในข้อ 1. ตรงช่องรายการ”ตามสัญญาจ้าง สธ.32/2530″ กลับลงวันที่เป็น “วันที่ 28 พฤษภาคม2530” ซึ่งหากเป็นสัญญาในวันที่ลงในหนังสือค้ำประกันวันที่27 พฤษภาคม 2530 แล้วจะไปค้ำประกันสัญญาจ้างลงวันที่28 พฤษภาคม 2530 ซึ่งยังไม่ได้ทำสัญญาจ้างกันเลยได้อย่างไรเมื่อหนังสือค้ำประกันของธนาคารเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มีพิรุธเช่นนี้จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องตรวจสอบว่าทำไมหนังสือค้ำประกันจึงมีพิรุธเช่นนี้หรือสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาตรวจสอบเอกสารนี้ให้ปรากฏความจริงเสียก่อน และหากยังเป็นที่สงสัยอยู่อีกจำเลยก็ต้องตรวจสอบไปยังธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวนั้นว่าได้ออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจริงหรือไม่ เพราะสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.5 เป็นเงินค่าจ้างสูงถึง 5,990,000 บาท และเอกสารหมาย จ.6 เป็นเงินค่าจ้างสูงถึง14,700,000 บาท การละเลยของจำเลยเช่นนี้จึงถือว่าจำเลยประมาทเลินเล่อไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่แล้วจำเลยจะอ้างว่าในขณะทำสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 และขณะนำหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 มาประกอบเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ไม่มีระเบียบให้ต้องตรวจสอบไปยังธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันหาได้ไม่ เมื่อระเบียบการทำสัญญาจ้างก่อสร้างตามหนังสือกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 8 มกราคม2495 เอกสารหมาย จ.7 ที่ว่า “ในโอกาสต่อไปหากกระทรวงทบวงกรมใดจะทำสัญญากับผู้ใดควรได้สอบสวนถึงหลักฐาน และฐานะของคู่สัญญาหรือผู้ค้ำประกันและเรียกประกันหรือเงินมัดจำให้เป็นที่มั่นคงพอแก่การนั้น ๆ ก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดแก่ราชการในการต่อไป” นั้น ย่อมหมายความว่าตรวจสอบถึงหนังสือค้ำประกันที่เป็นพิรุธด้วย มิใช่แม้จะพบพิรุธในหนังสือค้ำประกันก็ไม่ต้องทำการตรวจสอบหาได้ไม่ สำหรับการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันตามหนังสือของสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 6กรกฎาคม 2531 เอกสารหมาย ล.1 นั้น เป็นการเน้นย้ำให้ผู้มีหน้าที่ได้ปฏิบัติโดยเคร่งครัดขึ้นมิใช่ว่าก่อนออกระเบียบตามเอกสารหมาย ล.1 ไม่มีระเบียบในการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันเลยข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว
พิพากษายืน

Share