แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้บัญชีทรัพย์ส่วนกลางจะไม่ได้ระบุว่าอุปกรณ์การเชื่อมต่อสายไฟฟ้าที่ห้องควบคุมไฟฟ้าบริเวณชั้น 2 เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมในการใช้ไฟฟ้าในชั้นนั้น ๆ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติคำนิยามของ ” ทรัพย์ส่วนกลาง ” ว่า หมายถึงส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอันที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามนัยคำนิยามดังกล่าว อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นต้นเหตุเกิดเพลิงไหม้เป็นทรัพย์ส่วนกลางซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และไฟฟ้าเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถพิสูจน์ให้ได้ว่าการเสียหายเกิดขึ้นแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อ ศ. เจ้าของร่วม ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง และเมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ ศ. ไป โจทก์ชอบที่จะรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 642,287.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุดใบหยกทาวเวอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและมีอำนาจจัดการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ตามข้อบังคับและมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2548 เกิดเพลิงไหม้ที่ห้องควบคุมกระแสไฟฟ้าบริเวณชั้น 2 ของอาคารชุด เนื่องมาจากอุปกรณ์การเชื่อมต่อสายไฟฟ้าบริเวณหลังตู้ควบคุมไฟของห้องควบคุมไฟชั้น 2 เกิดชำรุดหลุดหลวมจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดความร้อนสะสมขึ้นจนฉนวนหุ้มสายไฟเกิดลุกไหม้ เป็นเหตุให้ทรัพย์สินภายในห้องชุดของนางสาวศรีรัตน์ ซึ่งเอาประกันอัคคีภัยไว้กับโจทก์ถูกเขม่าควันไฟและเปียกน้ำได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของร่วมรายหนึ่งของอาคารชุด ไม่มีหน้าที่ครอบครองดูแลทรัพย์ส่วนกลางร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกจากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 มิได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าทรัพย์ส่วนกลางที่อยู่ในความดูแลบำรุงรักษาของจำเลยที่ 1 ต้องเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่อยู่ในบัญชีทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้รวมอยู่ด้วยแต่ประการใด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาและไม่มีสิทธิใด ๆ ตามกฎหมายที่จะนำเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางไปชำระค่าเสียหายแก่โจทก์อันเป็นวัตถุประสงค์อื่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของนิติบุคคล เห็นว่า แม้บัญชีทรัพย์ส่วนกลางจะไม่ได้ระบุว่าอุปกรณ์การเชื่อมต่อสายไฟฟ้าที่ห้องควบคุมไฟฟ้าบริเวณชั้น 2 เป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน เมื่อพิเคราะห์ถึงลักษณะการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมในการใช้ไฟฟ้าในชั้นนั้น ๆ ซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติคำนิยามของ ” ทรัพย์ส่วนกลาง ” ว่า หมายถึงส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอันที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามนัยคำนิยามดังกล่าว
ส่วนฎีกาที่ว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นทรัพย์ที่เป็นอันตรายโดยสภาพและต้องอยู่ภายในกฎระเบียบของการไฟฟ้านครหลวง ผู้ใดก็ตามที่ก่อสร้างอาคารสูงที่ต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต้องยกกรรมสิทธิ์ให้แก่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้านครหลวงห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปเกี่ยวข้อง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาจึงขัดกับระเบียบของการไฟฟ้านครหลวงนั้นเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้กล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นต้นเหตุเกิดเพลิงไหม้เป็นทรัพย์ส่วนกลางซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 และไฟฟ้าเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถพิสูจน์ให้ได้ว่าการเสียหายเกิดขึ้นแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อนางสาวศรีรัตน์ เจ้าของร่วม ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 วรรคสอง และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชำระค่าสินไหมทดแทนจำนวน 600,000 บาท ให้แก่นางสาวศรีรัตน์ไป โจทก์ชอบที่จะรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่มีผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์