แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งด้วยเรื่องผิดสัญญาซื้อขายที่ดินรวมใบอนุญาตและเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง ซึ่งจำเลยยังมีข้อต่อสู้อยู่ไม่แน่นอนว่าศาลจะพิพากษาคดีเป็นประการใด การบอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่ และคดียังไม่ถึงที่สุด ถือไม่ได้ว่ามูลหนี้ตามที่จำเลยออกเช็คเพื่อให้ใช้เงินสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แตกต่างจากกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว คดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 7
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน และเพื่อความสะดวกในการพิจารณาให้เรียกพนักงานอัยการว่า โจทก์ที่ 1บริษัทสุมะโน แซนด์ โปรดัคส์ จำกัด ว่า โจทก์ที่ 2 นายเฉลิมพล ติรณพันธ์หรือสุมโนพรหม ว่า โจทก์ที่ 3 นางสาววราพรหรือวราภรณ์ เทอมแพงพันธ์ว่าจำเลยที่ 1 และพลตำรวจโทชัยยุทธหรือสุริยะ โมรานนท์ ว่า จำเลยที่ 2
คดีทั้งสิบจำนวน โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในสำนวนคดีที่สามถึงที่หกและที่เก้าติดต่อกัน กับนับโทษของจำเลยที่ 2ในสำนวนที่หกถึงที่สิบติดต่อกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องในสำนวนคดีที่หนึ่งและที่สองแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา บริษัทสุมะโน แซนด์ โปรดัคส์ จำกัด โจทก์ที่ 2ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีที่สามและที่สี่ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4(1)(2) ตามเช็คฉบับแรก ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2538 (สำนวนคดีที่หนึ่ง) ลงโทษจำคุก 1 ปีและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 3 สำหรับจำเลยที่ 1 และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4224 ถึง 4229/2540 (สำนวนคดีที่ห้าถึงที่สิบ) กับให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4222 ถึง 4229/2540 (สำนวนคดีที่สามถึงที่สิบ) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ที่ 2 และที่ 3ประการมีว่า การที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ชำระเงินตามเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ออกให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายเป็นเหตุให้หนี้ที่จำเลยออกเช็คตามฟ้องเพื่อให้ใช้เงินได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดถือว่าคดีเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีแพ่งด้วยเรื่องผิดสัญญาซื้อขายที่ดินรวมใบอนุญาตและเครื่องจักรโรงงานอุตสาหกรรมตามเอกสารหมาย ล.23 นั้น เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง ซึ่งจำเลยทั้งสองยังมีข้อต่อสู้อยู่ ไม่แน่นอนว่าศาลจะพิพากษาคดีเป็นประการใดการบอกเลิกสัญญาชอบหรือไม่ และคดียังไม่ถึงที่สุด ถือไม่ได้ว่ามูลหนี้ตามที่จำเลยที่ 1 ออกเช็คเพื่อให้ใช้เงินสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แตกต่างจากกรณีที่คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้วโดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่1671/2538 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างคดีจึงยังไม่เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาอื่นตามที่โจทก์ที่ 2 และที่ 3กับจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ เพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี