แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 162 นั้น ผู้กระทำหาต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือต้องกระทำโดยทุจริตไม่ และไม่จำต้องพิจารณาถึงผลการกระทำว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นหรือไม่ หากผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองว่ามีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตน หรือรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงว่ามีข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น แต่เป็นความเท็จ คดีเมื่อได้ความจากคำเบิกความของ พ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุซึ่งมีโต๊ะทำงานอยู่ติดกับจำเลยที่ 2 ว่า ในวันยื่นซองสอบราคานั้นมี ร. คนเดียวนำซองมายื่น 3 ซอง ซึ่งเป็นซองของบริษัท ป. จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. และห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. โดยในเอกสารกลับมีลายมือชื่อของ ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างลงลายมือชื่อว่าเป็นผู้ยื่นเอกสาร โดยในช่องด้านบนของเอกสารจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองโดยมีข้อความเป็นสาระสำคัญในตอนท้ายว่า ม. และ อ. หุ้นส่วนผู้จัดการของทั้งสองห้างเป็นผู้มายื่นซองด้วยตัวเอง อันเป็นความเท็จ เมื่อจำเลยที่ 2 รับรองเป็นหลักฐานว่า ม. และ อ. นำซองมายื่นต่อหน้าตน และใบรับซองสอบราคาเป็นเอกสารที่มุ่งพิสูจน์ความจริงว่า เจ้าของซองนำซองมายื่นจริงซึ่งเป็นความเท็จ เพราะบุคคลทั้งสองไม่ได้นำซองมายื่นด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4, 7, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 147, 152, 157, 162
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) (4) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 7, 12 สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์กับฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฐานใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ จำคุก 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามและลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
โจทก์ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์หลังจากศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งที่ 7 จึงมีคำสั่งไม่อนุญาต
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์และยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาหลังจากศาลชั้นต้นสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ และมีคำสั่งเกี่ยวกับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ว่าไม่จำต้องสั่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์ภาค 4
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์เสียด้วย จำเลยที่ 1 คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพียงบทเดียว จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จจำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เป็นจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า ช่วงเกิดเหตุระหว่างปี 2544 ถึง 2545 จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร จำเลยที่ 2 รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ ในฝ่ายพัสดุและทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ระหว่างดำรงตำแหน่ง จำเลยที่ 1 อนุมัติให้นำรถยนต์หลายคันขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครไปซ่อมที่บริษัทโตโยต้าสกลนคร (1992) ผู้จำหน่ายโตโยต้า จำกัด ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า ในเขตอำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร รวม 30 ครั้ง อนุมัติให้มีการจัดซื้อนกกระจอกเทศ 130 ตัว พร้อมอาหารสำเร็จรูป 200 กระสอบ เพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรผู้สนใจนำไปเลี้ยง และอนุมัติจ้างบริษัทโปรแซค จำกัด ก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระบรมฉายาลักษณ์ที่บริเวณสี่แยกบ้านธาตุนาเวง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ด้วยงบประมาณ 2,000,000 บาท การจัดจ้างดังกล่าวกระทำโดยวิธีสอบราคาโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซองสอบราคาจากผู้รับเหมาและทำรายงานการรับซองสอบราคาดังกล่าว แต่ผู้รับเหมาได้ดำเนินการก่อสร้างไปก่อนลงนามในสัญญาจ้าง เมื่อก่อสร้างเสร็จ คณะกรรมการตรวจการจ้างจึงไม่เซ็นรับมอบงาน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เพื่อสะดวกแก่การวินิจฉัย ในเบื้องต้นควรพิจารณาก่อนว่า ข้อหาอื่นตามฟ้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์มีอำนาจขอให้ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนโดยละเอียดแล้ว พบว่าขณะศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องหรือไม่นั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะได้พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็ยังฎีกาคัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งหากศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ต่อไปและโจทก์อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ขยาย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ต้องพิจารณาพิพากษา ในข้อหาที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ด่วนวินิจฉัยว่าข้อหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เป็นอันยุติเพราะไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ศาลฎีกาจะได้ทำคำพิพากษาฉบับนี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว อันมีผลเท่ากับไม่มีการอุทธรณ์ของโจทก์และไม่มีการยกประเด็นปัญหาการจัดจ้างซ่อมรถยนต์และการจัดจ้างก่อสร้างซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ขึ้นพิจารณาในชั้นอุทธรณ์แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดสำหรับการกระทำทั้งสองกรณีดังกล่าวได้อีก เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง มาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์ขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่าในโครงการจัดซื้อนกกระจอกเทศตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดนั้น จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำผิดในฐานดังกล่าว กรณีจึงต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ด้วยว่า ในโครงการจัดซื้อนกกระจอกเทศนั้น จำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ฟังว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามฟ้อง คงมีจำเลยที่ 2 ฎีกาฝ่ายเดียว ปัญหาวินิจฉัยสำหรับจำเลยที่ 2 จึงมีว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครและชาวบ้านที่ศาลเรียกมาเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันกับจำเลยที่ 1 ว่านกกระจอกเทศในโครงการส่วนใหญ่ได้แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปเลี้ยงจริงโดยมีหลักฐานการรับนกกระจอกเทศพร้อมอาหารสำเร็จรูป เป็นพยาน ส่วนนกที่มีเหลืออยู่ที่ปั๊มน้ำมันเก่าของจำเลยที่ 1 ที่อำเภอพังโคนบ้างนั้น จำเลยที่ 1 เบิกความให้เหตุผลว่าเป็นนกกระจอกเทศงวดสุดท้ายที่รอผู้ซึ่งลงชื่อไว้มารับไปเลี้ยง แต่หลายคนเห็นว่าการเลี้ยงมีปัญหายุ่งยากและต้องใช้เงินมากจึงไม่ยอมมารับนกไปอันเป็นเหตุให้มีนกระจอกเทศเหลือตกค้างอยู่ปั๊มน้ำมันเก่าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเหตุผลดังกล่าว โจทก์ไม่ได้ถามค้านให้รับฟังข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นหากจะพบนกกระจอกเทศบางส่วนถูกเลี้ยงอยู่ที่ปั๊มน้ำมันเก่าของจำเลยที่ 1 บ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยที่ 1 มีเจตนาจะเบียดบังเอานกกระจอกเทศเหล่านั้นไว้เป็นของตน ดังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่าผลสุดท้าย จำเลยที่ 1 ก็มอบนกกระจอกเทศที่ตกค้างอยู่ที่ปั๊มน้ำมันเก่าให้แก่ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนครนำไปเลี้ยง ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เบียดบังเอานกกระจอกเทศในโครงการไปเป็นของตนดังที่โจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เบียดบังเอานกกระจอกเทศในโครงการไปเป็นของตนแล้ว กรณีก็ไม่มีข้อเท็จจริงให้รับฟังต่อไปได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังว่าจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาหรือไม่นั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นอกจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ปฏิบัติต้องเป็นการมิชอบแล้ว เจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้นยังต้องมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือกระทำโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นเจตนาพิเศษด้วย สำหรับปัญหาเรื่องความเสียหายหรือการทุจริต เห็นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสอง เมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 เพิ่งทำหน้าที่รับซองสอบราคาเป็นครั้งแรกแล้ว คดีไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการประกาศสอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เช่นเดียวกัน ในมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งหรือผู้ใด นายสมชัย หัวหน้าส่วนอำนวยการองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร พยานโจทก์ก็เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 ที่พยานได้รับรายงานสรุปผลการควบคุมงานก่อสร้างนั้น ปรากฏว่าการก่อสร้างสำเร็จแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ นายสุรชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ประธานตรวจการจ้าง ก็เบิกความรับสมว่า พยานไปตรวจงานครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2545 พบว่าการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีจำเลยที่ 1 เบิกความสนับสนุนว่า ซุ้มดังกล่าวก่อสร้างเสร็จทันวันรับเสด็จพอดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือแก่ทางราชการเช่นกัน การปฏิบัติตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 สำหรับความผิดฐานใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 7 และ 12 ตามลำดับนั้น เห็นว่า มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการใดโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือให้มีการเสนอราคาโดยหลงผิด ต้องระวางโทษจำคุก…” ซึ่งจากข้อความดังกล่าว แสดงว่าการกระทำที่จะเป็นตามมาตรา 7 ต้องประกอบด้วย ผู้กระทำได้ใช้อุบายหลอกลวง หรือหากไม่ใช้อุบายหลอกลวง ก็ต้องกระทำการด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง และการหลอกลวงหรือการกระทำด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น มีผลทำให้ผู้อื่นไม่อาจเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรมได้ หรือหากเสนอราคาได้การเสนอราคานั้นก็เป็นไปโดยหลงผิด แต่ในคดีนี้ ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการสอบสวนหรือทางนำสืบของโจทก์ว่าผู้รับซองสอบราคาอีก 7 ราย นอกจากบริษัทโปรแซค จำกัด ผู้ได้รับเลือก หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด รังค์ แอสโซซิเอท กับห้างหุ้นส่วนจำกัด แอโรเฟล็กซ์ เทคโนโลยี ผู้ยื่นซองสอบราคาแต่ไม่ได้รับเลือกไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด รังค์ แอสโซซิเอท กับห้างหุ้นส่วนจำกัด แอโรเฟล็กซ์ เทคโนโลยีผู้ที่เข้าเสนอราคาแข่งขันกับบริษัทโปรแซค จำกัด ได้เสนอราคาโดยหลงผิดอย่างไร กรณีจึงไม่อาจรับฟังว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้อุบายหลอกลวง หรือ การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่จัดให้มีการประกาศสอบราคา รับซองสอบราคาและทำรายงานการรับซองสอบราคาเสนอต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาหรือเข้าทำการเสนอราคาโดยสำคัญผิด อันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 7 และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำผิดตามมาตรา 7 ทั้งทางนำสืบก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยมุ่งหมายเพื่อมิให้มีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรมแล้ว กรณีก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 12 ได้ เพราะมาตรา 12 เป็นบทเพิ่มโทษของมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐผู้ใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ มิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ มีความผิด…ต้องระวางโทษ…” ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 7 และมาตรา 12 ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น แต่สำหรับความผิดฐานเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในคำฟ้องข้อ 6 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่
(1) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นเท็จ
…
(4) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษ…” ซึ่งจากข้อความดังกล่าว การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ผู้กระทำหาต้องมีมูลเหตุชักจูงใจหรือเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือต้องกระทำโดยทุจริตไม่ และไม่จำต้องพิจารณาถึงผลการกระทำว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างใดขึ้นหรือไม่ หากผู้กระทำเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร รับรองว่ามีการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตน หรือรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งมุ่งพิสูจน์ความจริงว่ามีข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แต่เป็นความเท็จ กล่าวคือ ไม่มีการอย่างใดกระทำต่อหน้าตนจริง หรือไม่มีข้อเท็จจริงที่เอกสารนั้นมุ่งจะรับรองเกิดขึ้นจริง การกระทำนั้นก็เป็นความผิดแล้ว คดีนี้ ได้ความจากคำเบิกความของนายพัฒนา เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุและทรัพยสินซึ่งมีโต๊ะทำงานอยู่ติดกับโต๊ะทำงานของจำเลยที่ 2 ว่า ในวันยื่นซองสอบราคานั้นมีนายพีรศิลป คนเดียวนำซองเอกสารจำนวน 3 ซอง มายื่น ซึ่งเมื่อพยานเดินไปดูใบรับซองสอบราคาที่จำเลยที่ 2 กรอกข้อความ แล้วปรากฏว่าเป็นซองของบริษัทโปรแซค จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด รังค์ แอสโซซิเอท และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แอโรเฟล็กซ์ เทคโนโลยี โดยของบริษัทโปรแซค จำกัด มีชื่อนายพีรศิลปกรรมการผู้จัดการเป็นผู้ยื่นพร้อมลงลายมือชื่อแสดงการยื่นไว้ ส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัด รังค์ แอสโซซิเอท กับห้างหุ้นส่วนจำกัด แอโรเฟล็กซ์ เทคโนโลยี ซึ่งนายพีรศิลป นำมายื่นแทนกลับมีลายมือชื่อนายมนู และนายอนุชา หุ้นส่วนผู้จัดการของทั้งสองห้างฯ ตามลำดับเป็นผู้ลงลายมือชื่อยืนยันการยื่นไว้เป็นหลักฐาน โดยในช่องบนของสำเนาเอกสารสองฉบับดังกล่าวที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองไว้มีข้อความเป็นสาระสำคัญในตอนท้ายว่า นายมนู และนายอนุชา หุ้นส่วนผู้จัดการของทั้งสองห้างฯ เป็นผู้มายื่นซองสอบราคาด้วยตนเอง ซึ่งเป็นความเท็จ เมื่อใบรับซองสอบราคาทั้งสองฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 2 รับรองเป็นหลักฐานว่านายมนูกับนายอนุชา นำซองสอบราคามายื่นต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และใบรับซองสอบราคาเป็นเอกสารที่มุ่งพิสูจน์ความจริงว่า ได้มีเจ้าของซองนำซองมายื่นจริงอันเป็นความเท็จ เพราะนายมนูและนายอนุชาไม่ได้นำซองมายื่นด้วยตัวเองจริง การทำใบรับซองสอบราคาซึ่งเป็นหลักฐานรับรองว่านายมนู นำซองสอบราคาของห้างหุ้นส่วนจำกัด รังค์ แอสโซซิเอท มายื่น และนายอนุชา นำซองสอบราคาของห้างหุ้นส่วนจำกัด แอโรเฟล็กซ์ เทคโนโลยี มายื่น ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราดังกล่าวชอบแล้ว แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 โดยไม่รอการลงโทษนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยซึ่งเพิ่งทำหน้าที่รับซองสอบราคาเป็นครั้งแรก ผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 มิได้เกิดความเสียหายต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ผู้เสียหายหรือต่อส่วนราชการของจังหวัดสกลนครแต่อย่างใด เพราะซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ที่มีการสอบราคาได้ก่อสร้างเสร็จทันพิธีรับเสด็จและใช้การต่อมาได้ดี ทั้งจากคำเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านของนายสุรชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร และของจำเลยที่ 1 ก็ได้ความตรงกันว่าการก่อสร้างซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งอยู่ในวงเงินงบประมาณไม่เกิน 2,000,000 บาท ในคดีนี้นั้น จำเลยที่ 1 สามารถจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ คือไม่ต้องมีการสอบราคาก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่พัสดุได้เสนอจำเลยที่ 1 ให้มีการสอบราคา จำเลยที่ 1 จึงสั่งให้ดำเนินการสอบราคาไปตามเสนอ ดังนั้น พฤติการณ์แห่งคดีและสภาพความผิดของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและอยู่ในเกณฑ์ที่จะรอการลงโทษได้ ศาลฎีกาจึงเห็นควรรอการลงโทษให้ ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เสียด้วย จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) และ (4) (เดิม) จำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมด เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากนี้ให้ยกและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4