คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5459/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันผลิตและมีไว้เพื่อขายเครื่องกรองน้ำ (ชนิดใช้สารกรอง) อันเป็นผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงสิทธิบัตร จำเลยที่ 1 ได้เคย ฟ้องโจทก์ร่วมเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ฉบับเดียวกันนี้เป็นคดีแพ่ง ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยวินิจฉัยว่าการออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์ให้แก่โจทก์ร่วม ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 54 วรรคแรก จำเลยที่ 1 ย่อมยกขึ้นกล่าวอ้างได้ตามมาตรา 54 วรรคสอง การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้จะต้องเป็นการประดิษฐ์ ขึ้นใหม่ซึ่งต้องไม่ใช่งานที่ปรากฏอยู่แล้ว คำว่า งานที่ปรากฏ อยู่แล้วมีอยู่หลายกรณีด้วยกันคือมีการจดสิทธิบัตรไว้แล้ว เป็นงานที่ใช้หรือแพร่หลายอยู่แล้วก่อนยื่นคำขอ หรือเป็นงานที่ เปิดเผยต่อสาธารณชนโฆษณาในสิ่งพิมพ์ หากสิ่งประดิษฐ์ใด มีลักษณะ 3 ประการที่กล่าวมา จะไม่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ ก่อนหน้าที่โจทก์ร่วมจะไปขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องกรองน้ำ ที่พิพาท เครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมได้มี แพร่หลายอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ร่วมไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมแตกต่าง จากการประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำที่แพร่หลายอยู่ก่อนนั้นอย่างไร กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าการประดิษฐ์เครื่อง กรอง น้ำ ของ โจทก์ร่วม เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ซึ่งเข้ากฎเกณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตร การประดิษฐ์ได้ นอกจากนี้เครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ที่พิพาทของโจทก์ร่วมอันมีวิธีการทำงานโดยการปล่อยให้น้ำไหล จากท่อน้ำในถังกรองที่ 1 ผ่านสารกรองต่าง ๆ ที่ใส่ไว้ เป็นชั้น ๆ โดยน้ำจากสารกรองชั้นสุดท้ายจะไหลผ่านท่อน้ำ รูปตัวแอลไปสู่ด้านบนของถังกรองที่ 2 แล้วไหลผ่านสารกรองในถังกรองที่ 2 ที่จัดเรียงเป็นชั้น ๆ จนถึงชั้นสุดท้ายหลังจากนั้นน้ำจะไหลออกจากปลายท่อซึ่งมีก๊อกสำหรับเปิดน้ำใช้ ซึ่งหลักการทำงานของเครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ที่พิพาทดังกล่าวนั้น เป็นหลักการทำงานที่อาศัยหลักของแรงดันน้ำ ขับดันให้น้ำไหลไปตามท่อที่วางไว้ภายในถังกรอง ประกอบกับ หลักการไหลจากที่สูงไปยังที่ต่ำของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านสารกรอง ด้านบนสุดไปยังสารกรองที่อยู่ด้านล่างสุด อันเป็นหลักการอย่างธรรมดาสามัญที่บุคคลทั่ว ๆ ไปย่อมทราบดีอยู่แล้ว คดีแพ่งเรื่องก่อนเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1ได้พิพาทกันในคดีแพ่งเกี่ยวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เดียวกันกับในคดีนี้ โดยศาลฎีกาในคดีดังกล่าวนั้นวินิจฉัยไว้ว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่สิทธิบัตร 422 นั้นไม่สมบูรณ์แม้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งจะผูกพันคู่ความในคดีดังกล่าว เฉพาะในทางแพ่งก็ตาม แต่ศาลย่อมจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว มาชั่งน้ำหนักประกอบพยานหลักฐานของคู่ความในคดีอาญาได้ สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่สิทธิบัตร 422 ของโจทก์ร่วมมิใช่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำ จึงมิใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนที่สูงขึ้น เมื่อสิทธิบัตร การประดิษฐ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวไม่สมบูรณ์ การกระทำของ จำเลยทั้งสองในการผลิตและมีไว้เพื่อขายเครื่องกรองน้ำ ตามสิทธิบัตรของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรพ.ศ. 2522 มาตรา 85, 86, 88 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 91 และขอให้ริบเครื่องกรองน้ำทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายธีระศักดิ์ สถิตวิทยากุล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันผลิตและมีไว้เพื่อขายเครื่องกรองน้ำ (ชนิดใช้สารกรอง)อันเป็นผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่สิทธิบัตร 422ซึ่งมีโจทก์ร่วมเป็นผู้ทรงสิทธิบัตร จำเลยที่ 1 ได้เคยฟ้องโจทก์ร่วมเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เดียวกันนี้เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 657/2530 คดีหมายเลขแดงที่ 2940/2531 ของศาลชั้นต้นเช่นกัน ต่อมาในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีนี้ ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่งดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่าการออกสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่สิทธิบัตร 422 ให้แก่จำเลย (โจทก์ร่วมในคดีนี้) ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เป็นสิทธิบัตรที่ไม่สมบูรณ์ตามมาตรา 54 วรรคแรก โจทก์ (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ย่อมยกขึ้นกล่าวอ้างได้ตามมาตรา 54 วรรคสองตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4131/2536
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามที่ปรากฏจากคำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมปากนายสันติ รัตนสุวรรณเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมว่า การประดิษฐ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้จะต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยนายสันติได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านอธิบายคำว่า “การประดิษฐ์ขึ้นใหม่”ว่า การประดิษฐ์ขึ้นใหม่นั้นต้องไม่ใช่งานที่ปรากฏอยู่แล้ว คำว่างานที่ปรากฏอยู่แล้วมีอยู่หลายกรณีด้วยกันคือ มีการจดสิทธิบัตรไว้แล้ว เป็นงานที่ใช้หรือแพร่หลายอยู่แล้วก่อนยื่นคำขอ หรือเป็นงานที่เปิดเผยต่อสาธารณชนโฆษณาในสิ่งพิมพ์ หากสิ่งประดิษฐ์ใดมีลักษณะ3 ประการ ที่กล่าวมาจะไม่ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ แต่นายสันติได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า ตามที่ปรากฏในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ปี 2524 ตามเอกสารหมาย ล.9 หน้า 519 ถึง 520 และสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ปี 2524 เอกสารหมาย ล.21 หน้า 516 เป็นการโฆษณาเผยแพร่เครื่องกรองน้ำชนิดกระบอกคู่ และเบิกความต่อไปอีกว่า ขณะที่นายสันติตรวจสอบเอกสารนั้น ไม่มีเอกสารดังกล่าวมามอบให้ ซึ่งสอดคล้องกับที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ก่อนหน้าที่โจทก์ร่วมจะไปขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องกรองน้ำที่พิพาทเครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมได้มีแพร่หลายอยู่แล้วเมื่อโจทก์ร่วมไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรของโจทก์ร่วมแตกต่างจากการประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำที่แพร่หลายอยู่ก่อนนั้นอย่างไร กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าการประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำของโจทก์ร่วมเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ซึ่งเข้ากฎเกณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ได้ นอกจากนี้เครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่พิพาทของโจทก์ร่วมอันมีวิธีการทำงานโดยการปล่อยให้น้ำไหลจากท่อน้ำในถังกรองที่ 1ผ่านสารกรองต่าง ๆ ที่ใส่ไว้เป็นชั้น ๆ โดยน้ำจากสารกรองชั้นสุดท้ายจะไหลผ่านท่อน้ำรูปตัวแอลไปสู่ด้านบนของถังกรองที่ 2แล้วไหลผ่านสารกรองในถังกรองที่ 2 ที่จัดเรียงเป็นชั้น ๆจนถึงชั้นสุดท้าย หลังจากนั้นน้ำจะไหลออกจากปลายท่อซึ่งมีก๊อกสำหรับเปิดน้ำใช้ ซึ่งหลักการทำงานของเครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่พิพาทดังกล่าวนั้น เป็นหลักการทำงานที่อาศัยหลักของแรงดันน้ำ ขับดันให้น้ำไหลไปตามท่อที่วางไว้ภายในถังกรอง ประกอบกับหลักการไหลจากที่สูงไปยังที่ต่ำของน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านสารกรองด้านบนสุดไปยังสารกรองที่อยู่ด้านล่างสุด อันเป็นหลักการอย่างธรรมดาสามัญที่บุคคลทั่ว ๆ ไปย่อมทราบดีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อรับฟังประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4131/2536 เอกสารหมาย ล.26 อันเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ได้พิพาทกันในคดีแพ่งเกี่ยวกับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เดียวกันกับในคดีนี้ โดยศาลฎีกาในคดีดังกล่าวนั้นวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่สิทธิบัตร 422 นั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งแม้ว่าคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีแพ่งจะผูกพันคู่ความในคดีดังกล่าวเฉพาะในทางแพ่งเท่านั้นแต่ศาลย่อมจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาชั่งน้ำหนักประกอบพยานหลักฐานของคู่ความในคดีอาญาได้ ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานที่โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองนำสืบกันมาในคดีนี้ จึงฟังได้ว่าสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่สิทธิบัตร 422 ของโจทก์ร่วมมิใช่การประดิษฐ์ที่ไม่เป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำจึงมิใช่การประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนที่สูงขึ้นเมื่อสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวไม่สมบูรณ์ การกระทำของจำเลยทั้งสองในการผลิตและมีไว้เพื่อขายเครื่องกรองน้ำตามสิทธิบัตรของโจทก์ร่วม จึงไม่เป็นความผิด
พิพากษายืน

Share