แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยอุทธรณ์ว่าเงินค่าอาหารและเงินรายรับอื่นไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5 เป็นการอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย จึงอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าเงินค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยการเกษียณอายุนั้น ถือเป็นค่าชดเชยตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แล้วหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ให้แปลความข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าชดเชยเมื่อพนักงานเกษียณอายุแล้ว จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเช่นกัน ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินในกรณีเกษียณอายุ 153,962.88 บาท และค่าชดเชย 85,440 บาท แก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินในกรณีเกษียณอายุ 153,962.88 บาท และค่าชดเชย 85,440 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า “โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 8,544 บาท จำเลยให้การว่าโจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,894 บาท และค่าอาหาร 1,200 บาท รวมทั้งรายรับอื่นอีก 450 บาท โดยอ้างว่า เงินค่าอาหารและรายรับอื่นจ่ายให้เป็นสวัสดิการจึงไม่ใช่ค่าจ้าง แล้วศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีรายได้ (เงินเดือน) เดือนละเท่าไร แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เงินค่าอาหารและรายรับอื่นจำเลยจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนในการทำงาน ถือเป็นเงินเดือนด้วย โจทก์จึงมีเงินเดือนเดือนละ 8,544 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 6,894 บาท ไม่ใช่ 8,544 บาท เพราะเงินค่าอาหาร 1,200 บาท และเงินรายรับอื่น 450 บาท จำเลยจ่ายให้เป็นสวัสดิการ จึงไม่ใช่ค่าจ้างตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จึงไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชย เห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยเป็นการอุทธรณ์ว่า ค่าอาหารและเงินรายรับอื่นเป็นค่าจ้าง หรือไม่ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย และอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า เงินค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยการเกษียณอายุนั้น ถือเป็นค่าชดเชยตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้วหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ให้แปลความข้อบังคับเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าชดเชยเมื่อพนักงานเกษียณอายุแล้ว จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเช่นกัน”
ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป