คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8019/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ จำเลยให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทราคา 104,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียง 104,000 บาท ส่วนค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันหลังจากวันฟ้องเป็นค่าเสียหายในอนาคตไม่อาจนำไปคำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาได้ จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 18797 เนื้อที่ 1 งาน 30 ตารางวา ซึ่งซื้อมาโดยสุจริตและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 ต่อมาประมาณปลายปี 2547 โจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินปรากฏว่า มีบ้านเลขที่ 19 ซึ่งเป็นบ้านของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินดังกล่าว โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไป แต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองพระอุดม อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้าน และส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากจำเลยไม่รื้อถอนบ้านออกไปให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต เนื่องจากโจทก์มีที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานห่างจากที่ดินพิพาทประมาณ 50 เมตร โจทก์ย่อมทราบดีว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายนา เมื่อปี 2511 นายนาแบ่งขายที่ดินเนื้อที่ 130 ตารางวา ให้แก่นายทองสุขตาของจำเลย และนายทองสุขได้ชำระค่าที่ดินครบถ้วนแล้ว แต่นายนาไม่อาจจดทะเบียนโอนให้ได้เนื่องจากยังทำการแบ่งแยกที่ดินไม่เรียบร้อย แต่นายทองสุขและนางบุญปลูกภริยาได้เข้าไปปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทคือบ้านเลขที่ 43 หมู่ที่ 2 และในปีเดียวกัน นายนิตย์และนางสุนันท์บิดามารดาของจำเลยได้เข้าไปปลูกบ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 2 และจำเลยได้ครอบครองบ้านหลังดังกล่าวต่อจากบิดามารดาจนถึงปัจจุบัน โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากผู้มีชื่อโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต จำเลยเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 2 ออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายอัตราเดือนละ 30,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนบ้านและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ จำเลยให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่า ที่ดินพิพาทที่จำเลยปลูกบ้านอยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ดังนี้ กรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินจึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทเนื้อที่ 130 ตารางวา กำหนดราคาไว้เป็นเงิน 104,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงมีเพียง 104,000 บาท ส่วนค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันหลังจากวันฟ้องนั้นเป็นค่าเสียหายในอนาคตไม่อาจนำไปคำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาได้ เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาวางเงินมัดจำระหว่างนายนากับนายทองสุขตามเอกสารหมาย ล.2 เป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด การครอบครองที่ดินพิพาทของนายทองสุขจึงเป็นการครอบครองแทนนายนาเจ้าของที่ดินเท่านั้น เมื่อจำเลยและบิดามารดาจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายทองสุขโดยอาศัยสิทธิของนายทองสุข แม้จะครอบครองที่ดินพิพาทเกินกว่า 10 ปี จำเลยก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ และโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยสุจริตนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์มานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share