แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ตามคำขอท้ายคำร้องของนายจ้างผู้ร้องได้ขอให้ศาลแรงงานอนุญาตลงโทษลูกจ้างผู้คัดค้านด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือก็ตาม แต่ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องได้กำหนดโทษทางวินัยไว้ว่า พนักงานผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจะถูกพิจารณาลงโทษตามที่เห็นสมควรดังนี้(1) ตักเตือนด้วยวาจา (2) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร (3) ตัดค่าจ้าง(4) ลดค่าจ้าง (5) พักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างไม่เกิน 7 วัน (6) เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย จะเห็นได้ว่า การพิจารณาลงโทษพนักงานตามระเบียบข้อบังคับดังกล่าวต้องดูพฤติการณ์ของพนักงานที่กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับตามความร้ายแรงเป็นเรื่อง ๆ ไป กรณีคดีนี้ ผู้คัดค้านขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นครั้งแรกและผู้ร้องมิได้เกิดความเสียหาย ที่ศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านด้วยวาจา จึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ทั้งโทษตักเตือนด้วยวาจาที่ศาลแรงงานมีคำสั่งอนุญาตก็เป็นโทษที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง หาใช่เป็นการอนุญาตให้ลงโทษต่ำกว่าโทษที่กำหนดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไม่ และคำสั่งของศาลแรงงานที่อนุญาตให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518มาตรา 52 ดังกล่าวมีผลเป็นเพียงการอนุญาตให้สิทธิแก่ผู้ร้องที่จะตักเตือนด้วยวาจาแก่ผู้คัดค้านได้เท่านั้น มิใช่เป็นคำสั่งแทนผู้ร้องให้มีผลลงโทษตักเตือนด้วยวาจาแก่ผู้คัดค้านได้โดยทันที หากผู้ร้องประสงค์จะใช้สิทธิลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านด้วยวาจาดังกล่าวก็จะต้องดำเนินการตักเตือนด้วยวาจาแก่ผู้คัดค้านเป็นอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้โทษตักเตือนด้วยวาจาก็เป็นโทษสถานเบากว่าโทษตักเตือนเป็นหนังสือตามที่ผู้ร้องร้องขอ คำสั่งของศาลแรงงานที่อนุญาตให้ลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านด้วยวาจาดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 52 ที่บัญญัติห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง