คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1236/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญาของศาลคดีเด็กและเยาวชนซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างโดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางนั้นถือว่าศาลมิได้ลงโทษจำเลยโดยจำคุกเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 29 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพยายามฆ่านายวีระยุทธ์ สาทิสสะรัต โดยใช้ปืนยิงแต่ไม่ถูก ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๓ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑, ๒๘๘, ๘๐, ๙๑
จำเลยรับในข้อมีและพกอาวุธปืนไปในทางสาธารณะ แต่สู้ว่าใช้ปืนยิงผู้เสียหายเพื่อป้องกันตัว ในการที่ผู้เสียหายกับพวกใช้ดาบไล่พันจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าโดยลดมาตราส่วนโทษฐานเป็นเด็กอายุกว่า ๑๗ ปีให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๖ จำคุก ๕ ปี แต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนดขั้นต่ำ ๒ ปี ชั้นสูง ๓ ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๙, ๑๐ ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ.๒๔๙๔ มาตรา ๒๙ บัญญัติว่า “คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเด็กและเยาวชนได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้น ให้ฎีกาไปยังศาลฎีกาได้เหมือนอย่างคดีธรรมดา ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามความในมาตรา ๒๗ ”
มาตรา ๒๗ ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๐๖ บัญญัติว่า “คดีที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้เหมือนอย่างคดีธรรมดาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(๑) ฯลฯ
(๒) ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา ๓๑ เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้น เป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กและเยาวชนไปเพื่อกักกันและอบรมมีกำหนดระยะเวลากับและอบรมเกิน ๓ ปี
(๓) ฯลฯ
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๒๗ ซึ่งได้แก้โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๒๗ ห้ามอุทธรณ์เฉพาะกรณีที่ศาลใช้ดุลยพินิจ เปลี่ยนโทษจำคุกหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนบางประการเท่านั้น มิได้ห้ามจำเลยที่จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ฉะนั้น จำเลยจะฎีกาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้หรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา
คดีนี้ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางนั้น มิได้ลงโทษจำเลยโดยจำคุกเกิน ๕ ปี จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘
จำเลยฎีกาว่า กระทำโดยจำเป็นเพื่อป้องกันตัว เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามฎีกา พิพากษายกฎีกาของจำเลย.

Share