แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 โดยกล่าวหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับรองว่าที่พิพาทได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงที่พิพาทมีสภาพเป็นภูเขาไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 นำเอาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ผิดแปลงไปใช้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ดินพิพาท ก็เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวประสงค์เพียงให้มีรายละเอียดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็พอแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นเรื่องที่ว่ากันในชั้นสืบพยานได้
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายให้รังวัดชันสูตรตรวจสอบที่ดินในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ เพื่อให้ ส. ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ทำให้เกิดความสียหายแก่รัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเสนอต่อนายอำเภอรับรองว่าออกทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินตลอดจนตรวจสอบแล้วว่าสามารถออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ได้ อันเป็นความเท็จ จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ
จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนสิทธิและใบรับรองเขตติดต่อที่ดินยืนยันว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ทั้งไม่ใช่ที่สาธารณะหรือที่หวงห้ามของทางราชการอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
การที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะแต่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและยังรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ มีจุดประสงค์อย่างเดียวเพื่อให้นายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 91, 83 และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1264/2542 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญาของโจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นอันระงับ ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91) ฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 5 ปี ฐานเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานเท็จ จำคุก 3 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 ปี ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานเท็จ จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 8 เดือน สำหรับคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1264/2542 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลยังไม่มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว จึงยกคำขอในส่วนนี้ (ที่ถูก ต้องระบุด้วยว่าข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก)
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) และสำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์สมบูรณ์และชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 ตามลำดับ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายกับพวกได้รับมอบหมายจากนายอำเภอเกาะลันตาให้ปฏิบัติหน้าที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินที่สาธารณประโยชน์รายนายหลงยะและนายสมพิศขอคัดแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) สำหรับที่ดินพิพาทว่าผู้นำพิสูจน์นำชี้ทับที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบว่าผู้ขอได้ทำประโยชน์ในที่ดินหรือไม่ และเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใด จำเลยที่ 1 และที่ 2 บังอาจร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบพบว่าที่ดินพิพาทเป็นพื้นที่มีความลาดชันเกินกว่า 35 องศา ซึ่งทางราชการไม่อาจออกเอกสารสิทธิให้ตามคำขอได้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันให้คำรับรองต่อนายอำเภอเกาะลันตาว่าที่ดินพิพาทนายหลงยะได้ทำประโยชน์ต่อเนื่องกันตลอดมาและปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์เต็มทั้งแปลงและที่ดินพิพาทไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือที่สงวนหวงห้ามของทางราชการซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นภูเขา มีความลาดชันเกินกว่า 35 องศา และเป็นป่าถาวรเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการซึ่งไม่อาจออกเอกสารสิทธิให้ได้ เป็นเหตุให้นายอำเภอเกาะลันตาหลงเชื่อและลงนามออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่นายสมพิศ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่กรมที่ดิน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้อื่น และประชาชน และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับรองเอกสารที่นำเสนอต่อนายอำเภอเกาะลันตาประกอบการพิจารณาอนุมัติออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่ผู้ขอว่าเป็นหลักฐานที่ตนทำขึ้นนั้นเพื่อพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ เป็นเหตุให้นายอำเภอเกาะลันตาออกเอกสารสิทธิไปโดยไม่ชอบ แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 นำเอาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ผิดแปลงไปใช้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ดินพิพาท แต่ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ซึ่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวประสงค์เพียงให้มีรายละเอียดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็พอแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ เป็นเรื่องที่ว่ากันในชั้นสืบพยานได้ เมื่ออ่านฟ้องของโจทก์โดยตลอด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ การนำเอาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ผิดแปลงไปใช้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ที่ดินพิพาท จึงอยู่ในประเด็นแห่งคดี ศาลชั้นต้นย่อมฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อวินิจฉัยการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาข้อสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า นายสนั่นเป็นเจ้าพนักงานจัดทำบันทึกคำให้การของนางไหมส่าหรี จำเลยที่ 2 และนายไพบูลย์ไปตามหน้าที่ ซึ่งนางไหมส่าหรี จำเลยที่ 2 และนายไพบูลย์ให้การสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญว่านางไหมส่าหรีไม่เคยมีที่ดินและไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบริเวณอ่าวไม้ไผ่ นางไหมส่าหรีมีที่ดินที่มีหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) อยู่ที่บ้านคลองโข่งซึ่งอยู่ห่างจากอ่าวไม้ไผ่ประมาณ 10 กิโลเมตร ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เลขที่ 155 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเดิมเป็นของนางไหมส่าหรีนั้น ตั้งอยู่ที่บ้านคลองโข่ง หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เมื่อพิจารณาคำเบิกความของนายสากล ปลัดอำเภอเกาะลันตาในขณะนั้น ประกอบกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอปลายพระยา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และประกาศจังหวัดกระบี่ เรื่องการเรียงลำดับหมู่บ้านในท้องที่ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา แล้วได้ความว่า เดิมบ้านคลองโข่งอยู่ในเขตการปกครองหมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ส่วนบริเวณอ่าวไม้ไผ่ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ดินพิพาทอยู่บ้านคลองหิน หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ต่อมาปี 2526 มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องตั้งและเปลี่ยนแปลงเขตตำบลในท้องที่อำเภอปลายพระยา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2526 ให้โอนบ้านคลองโข่ง หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เป็นหมู่ที่ 2 ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา ส่วนบ้านคลองหิน หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2526 ดังนั้น ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 155 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ หากจะนำมายื่นเพื่อขอเอกสารสิทธิหลังวันที่ 1 กันยายน 2526 จะต้องทำกับที่ดินที่อยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ดินที่แท้จริง การที่มีการดำเนินการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) เลขที่ 1320 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2532 สำหรับที่ดินพิพาท จึงมิใช่ที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 155 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งนายหลงยะเบิกความว่าเป็นที่ดินที่ได้รับมาจากนางไหมส่าหรี นอกจากนี้ตามทะเบียนการครอบครองที่ดิน ก็ระบุว่ามีการแจ้งการครอบครองที่ดินเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2498 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินย่อมต้องทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเขตปกครองหมู่บ้าน ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส. ค. 1) เลขที่ 155 หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ต้องไม่อยู่ที่อ่าวไม้ไผ่ บ้านคลองหิน หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ส่วนปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีความลาดชันเกินกว่า 35 องศา ที่ทางราชการไม่อาจออกเอกสารสิทธิได้หรือไม่ มีการทำประโยชน์ต่อเนื่องตลอดมา และไม่เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือที่สงวนหวงห้ามของทางราชการหรือไม่ นายอนันต์ หัวหน้างานรังวัดสิทธิที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบิกความว่า พยานได้รับคำสั่งจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้ขีดเขตป่าไม้ตามหนังสือร้องขอของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พยานขีดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติเกาะลันตาได้เนื้อที่มากกว่าที่นายธรรมนูญ เป็นคนขีดเมื่อปี 2531 การที่นายธรรมนูญขีดแนวป่าสงวนแห่งชาติน้อยลง ทำให้ประชาชนสามารถขอออกเอกสารสิทธิสำหรับพื้นที่ที่อยู่นอกเขตได้ และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า แนวเขตที่นายธรรมนูญขีดยังไม่มีการเพิกถอน เมื่อการขีดแนวป่าสงวนแห่งชาติของบุคคลทั้งสองแตกต่างกัน แม้ที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ขีดโดยนายอนันต์ แต่ไม่อยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ขีดโดยนายธรรมนูญ เมื่อแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ขีดโดยนายธรรมนูญยังไม่มีการเพิกถอน และการขีดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติของนายอนันต์เป็นการจัดทำตามคำร้องขอของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยกรมป่าไม้ยังไม่ได้มีข้อยุติว่าจะยึดแนวเขตใดเป็นเกณฑ์ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นายอภิรัต พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อปี 2535 พยานรับราชการเป็นกรรมการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการมีหนังสือขอให้สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติตรวจสอบที่ดินบริเวณตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ว่า ที่ดินอยู่ในสภาพเป็นป่าหรือเป็นที่ดินทำกิน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้ดำเนินการตรวจสอบและจัดส่งผลการวิเคราะห์รูปถ่ายทางอากาศให้ เมื่อพิจารณาเอกสารผลการวิเคราะห์รูปถ่ายทางอากาศอำเภอเกาะลันตาดังกล่าวแล้วระบุว่า เดือนมีนาคม 2510 สภาพป่าไม้ตามธรรมชาติ บนภูเขาและหาดทรายริมทะเลด้านตะวันตกเฉียงเหนือไม่มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ เดือนเมษายน 2519 สภาพป่าไม้ตามธรรมชาติ บนภูเขาและหาดทรายริมทะเลด้านตะวันตกเฉียงเหนือมีการถากถางพื้นที่และมีต้นไม้ขนาดเล็กขึ้นทดแทนบริเวณที่ราบด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 10 เปอร์เซนต์ ของพื้นที่ และระบุหมายเหตุว่าสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาตามเส้นชั้นระดับความสูงมีความลาดชันประมาณ 30 ถึง 40 เปอร์เซนต์ เห็นว่า แม้ผลการวิเคราะห์รูปถ่ายทางอากาศดังกล่าวจะเป็นการวิเคราะห์สภาพที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรวมของอำเภอเกาะลันตา และนายอภิรัตจะเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่าผลการวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นหลักวิชาการ หากต้องการทราบว่าที่ดินพิพาทมีความลาดชันเพียงใดต้องพิสูจน์ด้วยการรังวัดก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาประกอบภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งพันตำรวจตรีทัศนัย พนักงานสอบสวน จัดทำประกอบรายงานการสอบสวนที่ระบุสภาพที่ดินพิพาทว่ามีสภาพเป็นป่า ที่ลาดชัน มีที่ราบอยู่เพียงเล็กน้อย โดยพันตำรวจตรีทัศนัยได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่ามีที่ราบอยู่ประมาณ 10 ไร่ ปลูกต้นมะพร้าวและต้นมะม่วงหิมพานต์เช่นนี้แสดงว่า สภาพของที่ดินพิพาทโดยรวมเป็นป่าและเป็นที่ลาดชัน มีการทำประโยชน์เพียงประมาณ 10 ไร่ จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ทำตามระเบียบโดยนายหลงยะติดต่อขอคัดสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) โดยอ้างว่าแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) สูญหาย แต่จำเลขที่ได้ และนำสำเนาใบแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส. ค. 1) สูญหายมาประกอบตรวจสอบไม่พบต้นฉบับซึ่งเก็บไว้ที่สำนักงานที่ดิน จึงใช้วิธีจัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับอำเภอและฉบับผู้ถือโดยสอบปากคำเจ้าของที่ดิน ผู้ใหญ่บ้านและกำนันท้องที่ จำเลยที่ 1 สอบปากคำนางไหมส่าหรีแล้วได้ความว่าที่ดินมีอาณาเขตตรงตามที่นายหลงยะแจ้ง ในวันเดียวกันนายสมพิศได้นำหนังสือสัญญาซื้อขายสิทธิการครอบครองที่ดินมาแสดงและยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งไม่มีระเบียบห้าม จำเลยที่ 1 นัดหมายรังวัดที่ดินพิพาทโดยมีนายหลงยะ นายสมพิศ นายวิจิตร ปลัดอำเภอ นายประยูร ป่าไม้อำเภอ จำเลยที่ 2 ผู้ใหญ่บ้าน และจำเลยที่ 3 กำนัน ร่วมตรวจสอบรังวัด นายหลงยะเป็นผู้นำชี้แนวเขตที่ดิน พบว่ามีการปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์เต็มพื้นที่ ที่ดินไม่ได้อยู่บนภูเขา เป็นที่ลาดชันไม่ถึง 35 องศา ไม่เป็นป่าหรือที่สงวนหวงห้ามของทางราชการ หลังจากมีการประกาศแล้วไม่มีผู้ใดคัดค้านจึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่นายสมพิศนั้น มีข้อพิรุธกล่าวคือ จำเลยที่ 1 เบิกความว่า มีการสอบปากคำนางไหมส่าหรีถึงอาณาเขตที่ดินของที่ดินพิพาทแล้ว แต่นางไหมส่าหรีกลับให้การต่อนายสนั่นว่านางไหมส่าหรีไม่เคยไปที่สำนักงานที่ดินและไม่เคยพิมพ์ลายนิ้วมือในบันทึกถ้อยคำ (ท.ด. 16) ลงวันที่ 3 เมษายน 2532 อีกทั้งการซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินของที่ดินพิพาทระหว่างนายหลงยะกับนายสมพิศก็มีพิรุธที่มีการตกลงซื้อขายกันและชำระราคาบางส่วนโดยง่าย ไม่มีการตรวจสอบแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ก่อน แต่นัดหมายให้นายหลงยะนำไปให้ดูภายหลังที่อำเภอเมืองกระบี่ นายหลงยะยังทำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญสูญหายขณะนอนค้างคืนที่โรงแรมแล้วไปแจ้งความโดยจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับที่ดินได้ครบถ้วนเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังให้คำรับรองว่ามีการทำประโยชน์เต็มพื้นที่ทั้ง ๆ ที่มีการทำประโยชน์เพียงประมาณ 10 ไร่ ซึ่งต่อมามีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เนื้อที่มากถึง 55 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา ซึ่งเกินกว่าทะเบียนแจ้งการครอบครองที่ระบุเพียง 10 ไร่ 2 งาน และยังให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทลาดชันไม่เกิน 35 องศา โดยปราศจากการตรวจสอบที่แน่ชัดและไม่มีหลักฐานสนับสนุน พยานหลักฐานของ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายให้รังวัดชันสูตรตรวจสอบที่ดินในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทให้คำรับรองว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นที่สาธารณประโยชน์ และเป็นที่สงวนหวงห้ามของทางราชการเนื่องจากเป็นที่ลาดชันเกิน 35 องศา ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ ไม่ได้มีการครอบครองทำประโยชน์เต็มเนื้อที่จริง แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ที่นำมาอ้างว่าเป็นหลักฐานของที่ดินพิพาทก็เป็นของที่ดินแปลงอื่นซึ่งจำเลยที่ 1 ทราบดี แต่จำเลยที่ 1 กลับดำเนินการรังวัดพร้อมจัดทำบันทึกถ้อยคำขึ้นโดยรวบรัดปราศจากการตรวจสอบให้ถูกต้องตามหน้าที่เพื่อให้นายสมพิศได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือเสนอต่อนายอำเภอเกาะลันตารับรองว่าออกทำการรังวัดตรวจสอบที่ดินตลอดจนตรวจสอบแล้วว่าสามารถออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1 ) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) ได้อันเป็นความเท็จ จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในบันทึกสอบสวนสิทธิและใบรับรองเขตติดต่อที่ดินยืนยันว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ทั้งไม่ใช่ที่สาธารณะหรือที่หวงห้ามของทางราชการอันเป็นความเท็จเพื่อเป็นหลักฐานในการเสนอนายอำเภอเกาะลันตาเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งต่อมานายอำเภอเกาะลันตาได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่นายสมพิศ ทำให้รัฐเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 เบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรังวัดที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 ป่าไม้อำเภอ และกำนันตำบลเกาะลันตา ที่ดินพิพาทมีการทำประโยชน์เต็มพื้นที่และไม่ต้องห้ามในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น. ส. 3 ก.) ซึ่งขัดแย้งกับที่ให้การไว้กับนายสนั่นโดยปราศจากเหตุผลที่น่าเชื่อ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานได้รับมอบหมายจากนายอำเภอเกาะลันตาให้ปฏิบัติหน้าที่ระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดินสาธารณะกรณีราษฎรขอคัดสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) และออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แต่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบและยังรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จมีจุดประสงค์อย่างเดียวเพื่อให้นายอำเภอเกาะลันตาออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งต่อมานายอำเภอเกาะลันตาได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่นายสมพิศ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (4) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมาย หลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุก 5 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 83 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8