คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ว่าคดีได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงฯ ศาลแขวงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 299 ผู้เสียหายได้มาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 297 อีก ดังนี้เมื่อกรณีเป็นเรื่องเดียวกันและวาระเดียวกันสิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297,299 แม้มาตรา 297 ศาลแขวงจะไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาแต่ก็มีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องอยู่ เมื่อปรากฏว่าโจทก์นำคดีที่ศาลพิพากษาแล้วมาฟ้องใหม่ ศาลก็ย่อมรับฟ้องของโจทก์ไว้มิได้

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 299

จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์เป็นบุคคลคนเดียวกับนายเล็กซึ่งผู้ว่าตำรวจนครบาลดุสิต ฟ้องในคดีดำที่ 3445/2500 ว่าเป็นผู้ริเริ่มก่อมูลวิวาทก่อนโจทก์กับพวกเป็นผู้สมัครใจวิวาทกับจำเลยโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย

วันไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์แถลงรับว่าจำเลยถูกฟ้องในคดีดำที่ 3445/2500 จริง คดีนี้เป็นมูลกรณีเดียวกับคดีดำที่ 3445/2500 และโจทก์ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดำที่ 2066/2501 ในมูลกรณีเดียวกันนี้เช่นเดียวกัน ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้องและพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในกรรมเดียวและวาระเดียวกันและตามที่โจทก์แถลงรับว่าจำเลยทั้ง 3 ในคดีนี้ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีดำที่ 3445/2500 รวมกับนายหอยพวกของโจทก์ ฐานชุลมุนต่อสู้กันจนเป็นเหตุให้นายเล็กโจทก์บาดเจ็บสาหัสศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 3 คดีถึงที่สุดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามมาตรา 39(4) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ตามที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาลงโทษตามมาตรา 297 แต่ศาลแขวงก็ยังมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องอยู่เมื่อโจทก์นำคดีที่ศาลพิพากษาไปแล้วจนคดีถึงที่สุดมาฟ้องอีกศาลก็รับฟ้องมิได้

พิพากษายืน

Share