คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ธนาคาร ธ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา โดยในขณะดังกล่าวนั้นลูกหนี้ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาแต่อย่างใด จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ธ. อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ มาตรา 14 ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3 (ก) ถือเป็นโมฆะ แม้ว่าตามความจริงแล้วจะยังไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายไปเป็นชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จึงเท่ากับว่าตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่อาจมีการคิดดอกเบี้ยกันได้
การที่ธนาคาร ธ. เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินย่อมต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์รวมถึงอัตราในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนลูกหนี้นั้นโดยสภาพและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจะทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การดำเนินการของสถาบันการเงินซึ่งประกอบกิจการอันเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้ลูกหนี้เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่ามีการคิดดอกเบี้ยโดยถูกต้องแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าการชำระดอกเบี้ยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 กรณีจึงต้องนำเงินดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และบุตรทายาทโดยธรรมของนายสุขคำ ผู้ตาย จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสและทายาทโดยธรรมของนายสุขคำ จำเลยที่ 3 ในฐานะบิดาทายาทโดยธรรมของนายสุขคำรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับแรกลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับที่สองวันที่ 20 มกราคม 2540 รวมเป็นเงิน 1,797,953 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงิน 782,302.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้จำนองและค้ำประกันกับจำเลยที่ 5 ในฐานะคู่สมรสของจำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชำระเงินตามสัญญากู้ฉบับแรกลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเงิน 1,113,400.98 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.25 ต่อปีของต้นเงิน 482,302.81 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 และ 2900 ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ที่ดินโฉนดเลขที่ 34590 ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวทุกแปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินจากการขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 4 และทรัพย์กองมรดกของนายสุขคำ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 ถึงแก่กรรม กรณีเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่ต่อไปได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 625,910.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 2899 และ 2900 ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง และโฉนดเลขที่ 34590 ตำบลศาลา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 4 กับทรัพย์มรดกของนายสุขคำ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกว่า ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ของสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับวันที่ 20 มกราคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ. 14 และ จ. 16 นั้นเป็นโมฆะหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์อ้างว่า แม้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) จะระบุอัตราดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดในสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับก็ตาม แต่เป็นเพียงการแสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (ดอกเบี้ยผิดนัด) ที่สามารถคิดได้ในขณะนั้นเป็นจำนวนเท่าใด หาได้มีเจตนาที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยผิดนัดดังกล่าวกับลูกหนี้ปกติแต่อย่างใด เห็นว่า แม้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) จะเป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งการคิดดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ก็ตาม แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โดยตามประกาศอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ตามสำเนาประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมและส่วนลดเอกสารหมาย จ. 56 อันเป็นประกาศที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับได้ประกาศเป็นสองอัตรา คืออัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อทั่วไปสูงสุดและอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา ดังนั้น การที่ระบุดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา โดยในขณะดังกล่าวนั้นลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาแต่อย่างใดเลย จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) จึงเป็นโมฆะ แม้ว่าตามความเป็นจริงแล้วจะยังไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายไปเป็นชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในข้อ 2 ของสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับวันที่ 20 มกราคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ. 14 และ จ. 16 เป็นโมฆะ จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่สองมีว่า อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ของสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับวันที่ 20 มกราคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ. 14 และ จ. 16 นั้น เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์อ้างว่า อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ดังกล่าวเป็นข้อตกลงกำหนดให้มีสิทธิคิดได้ จึงมิใช่เบี้ยปรับ เห็นว่า ในข้อ 3 ของสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับระบุไว้ว่าหากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงตามข้อ 2 ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับที่กล่าวมาในข้อ 2 ซึ่งเมื่อได้พิจารณาวินิจฉัยแล้วว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในข้อ 2 นั้นตกเป็นโมฆะ จึงเท่ากับว่าตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับไม่อาจมีการคิดดอกเบี้ยกันได้ ดังนั้นข้อตกลงในข้อ 3 ที่กำหนดไว้ว่า หากผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับที่กล่าวมาในข้อ 2 กล่าวคือ อัตราร้อยละ19 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงที่ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดไม่ชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้า ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยอันเป็นเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็ปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาวินิจฉัยว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ของสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับวันที่ 20 มกราคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ. 14 และ จ. 16 นั้น เป็นเบี้ยปรับและเห็นสมควรลดลงเหลือเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อที่สามมีว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับที่ 20 มกราคม 2640 ตามเอกสารหมาย จ. 14 และ จ. 16 ได้ตั้งแต่วันใด โดยโจทก์อุทธรณ์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับได้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2539 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดแก่ลูกหนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ามีการชำระดอกเบี้ยให้ตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 ทั้งตามรายการคำนวณภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยค้างรับตามเอกสารหมาย จ. 39 และ จ. 40 ของสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับวันที่ 20 มกราคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ. 14 และ จ. 16 ตามลำดับ ปรากฏว่าในภายหลังจากวันที่ 6 กันยายน 2535 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่มีการเริ่มคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดแก่ลูกหนี้นั้น ก็ยังคงมีการชำระดอกเบี้ยให้ตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับเป็นครั้งเป็นคราวมาโดยตลอดจนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 และการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดก็มิใช่อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับเป็นอัตราเดียวต่อเนื่องกัน แต่ยังได้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในบางช่วงบางเวลาเกินกว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อีกด้วย นอกจากนี้ก็ได้มีการนำเอาดอกเบี้ยที่ได้ชำระไว้ดังกล่าวไปหักทอนกับดอกเบี้ยที่คงยังค้างชำระอยู่อีกแล้วด้วย ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวอาจถือได้ว่าคู่กรณียังคงมีเจตนาที่จะปฏิบัติตามให้เป็นไปตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับอยู่ต่อไป และในข้อ 2 ตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับก็กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสุดท้ายของทุกเดือน เมื่อมีการชำระดอกเบี้ยให้ครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 มีนาคม 2547 และหลังจากนั้นต่อมาก็ไม่เคยมีการชำระดอกเบี้ยให้อีกเลย จนกระทั่งโจทก์ต้องมีหนังสือทวงถามและฟ้องร้องเป็นคดีนี้ กรณีย่อมถือได้ว่ามีการผิดนัดชำระดอกเบี้ยแล้วตั้งแต่งวดวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราผิดนัดตามสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับวันที่ 20 มกราคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ. 14 และ จ. 16 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อสุดท้ายมีว่า ดอกเบี้ยที่ได้ชำระให้ไปตามสัญญากู้เงินฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 และฉบับวันที่ 20 มกราคม 2540 เป็นเงิน 125,892.05 บาท และ 30,500 บาท จะนำไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระเป็นเงิน 482,302.81 บาท และ 300,000 บาท ตามรายการคำนวณภาระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยค้างรับเอกสารหมาย จ. 39 และ จ. 40 ได้หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์อ้างว่า การชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับเป็นการชำระหนี้ดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยความสมัครใจเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าไม่มีภาระผูกพันต้องชำระและเป็นการขัดต่อกฎหมาย จึงไม่อาจนำมาหักชำระได้อีก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และมาตรา 411 เห็นว่า ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) และโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นสถาบันการเงินย่อมต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์รวมถึงอัตราในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนลูกหนี้นั้นโดยสภาพและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจะทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การดำเนินการของสถาบันการเงินซึ่งประกอบกิจการอันเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้ลูกหนี้เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่ามีการคิดดอกเบี้ยโดยถูกต้องแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าการชำระดอกเบี้ยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และมาตรา 411 ดังนั้น เมื่อข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับตกเป็นโมฆะอันเป็นเหตุให้ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัดได้ กรณีจึงต้องนำเงินดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระตามสัญญาเงินกู้พิพาททั้งสองฉบับ ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาวินิจฉัยให้นำเงินดอกเบี้ยที่ชำระทั้งหมดรวม 156,392.05 บาท ไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ค้างชำระทั้งหมดรวม 782,302.81 บาท จึงคงเหลือต้นเงินที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับรวม 625,910.76 บาท จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้เมื่อได้พิจารณาวินิจฉัยไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดชำระต้นเงินที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินฉบับแรกลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเงิน 356,410.76 บาท และตามสัญญากู้เงินฉบับที่สองลงวันที่ 20 มกราคม 2540 เป็นเงิน 269,500 บาท แต่ตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองกับจำเลยที่ 5 ในฐานะคู่สมรสของจำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในหนี้เงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยเฉพาะตามสัญญากู้เงินฉบับแรกลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 เท่านั้น หาได้รวมถึงสัญญากู้เงินฉบับที่สองลงวันที่ 20 มกราคม 2540 ด้วยไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในหนี้เงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินพิพาททั้งสองฉบับ รวมเป็นเงิน 625,910.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 356,410.76 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share