คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800-801/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คลองบางไผ่น้อยบริเวณพิพาท แม้ใช้เรือสัญจรเข้าออกได้ แต่ก็ ขาดความสะดวกที่จะใช้สอยเป็นทางสาธารณะได้ตามปกติ จึงยังไม่พอ ที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1349 โจทก์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งล้อมอยู่ ไปสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางเดินพิพาทผ่านเข้าออกเป็นทางจำเป็นได้
โจทก์ได้ใช้ทางเดินพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะสืบทอดมาตั้งแต่ ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์และจำเลยที่เป็นญาติใกล้ชิดมาแต่เดิม จนกระทั่ง ปลายปี 2528 น้ำท่วมทางพิพาท ทางฝ่ายโจทก์จึงได้จัดสรรสร้างสะพานไม้ ข้ามคูน้ำในทางเดินพิพาท โดยบิดาจำเลยยินยอมให้ดำเนินการในลักษณะ ของความอะลุ่มอล่วยฉันเครือญาติ จึงเป็นการแสดงออกโดยแจ้งชัดว่า โจทก์ได้ใช้ทางเดินพิพาทด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย โดยถือว่าเป็นกันเอง อย่างเช่น เครือญาติที่ผูกพันกันมานานสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ อันเป็นการใช้ทางเดินพิพาทโดยถือวิสาสะและเอื้อเฟื้อต่อกัน ทางเดินพิพาท จึงไม่ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนมีศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ที่ 1 และที่ 2 สำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 3

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและบริวารใช้ที่ดินของจำเลยทางทิศตะวันตกเป็นทางเดินผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะกว้างประมาณ 1เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร และใช้ทางเดินผ่านที่ดินของนายสุวิช รังศาสตร์และนางทองหล่อ รุจิเลข ออกสู่ทางสาธารณะด้วย โดยสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาใช้เป็นทางจำเป็นเนื่องจากเป็นทางเดียวที่จะสามารถใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะได้ในทางบกสืบต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 50 ปี จนกระทั่งได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความแล้ว ดังนั้นทางเดินบนที่ดินของจำเลย กว้าง 1 เมตร ยาว 10 เมตร จึงเป็นทางจำเป็นและตกเป็นภารจำยอมเพื่อประโยชน์ของที่ดินของโจทก์ที่ 1 ของโจทก์ที่ 2 และ ของโจทก์ที่ 3 โดยอายุความตามกฎหมายแล้ว ต่อมาจำเลยเปิดประกาศแจ้งว่า “ทางส่วนบุคคลห้ามบุคคลภายนอกผ่านเข้าออกเพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินบริเวณนี้ของข้าฯ ขอให้รื้อสะพานของท่านออกภายใน 7 วัน” การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสาม ขอให้พิพากษาว่าทางเดินกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร ดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมของที่ดินของโจทก์ทั้งสามโดยอายุความและให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภารจำยอมแก่ที่ดินทั้งสี่แปลง หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนเจตนาของจำเลยและขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยและบริวารรื้อสะพานไม้ของโจทก์ทั้งสามหรือให้เสื่อมสภาพหรือปิดกั้นทางภารจำยอมและห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งทางภารจำยอมต้องลดไปหรือเสื่อมความสะดวก

จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยเปิดทางจำเป็นหรือไปจดทะเบียนภารจำยอมได้ที่ดินที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นของตนมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ทางคูน้ำสาธารณะและคลองบางไผ่น้อย การที่โจทก์ทั้งสามหรือบิดามารดาโจทก์ทั้งสามเดินผ่านที่ดินพิพาทอันเป็นของจำเลยก็เนื่องจากฝ่ายโจทก์และจำเลยเป็นญาติพี่น้องกัน บิดาจำเลยและจำเลยอนุญาตให้ใช้ทางเดินพิพาทได้ มิใช่กรณีที่บิดามารดาโจทก์ทั้งสามหรือโจทก์ทั้งสามใช้ทางเดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาใช้เป็นทางจำเป็นดังนั้น แม้จะใช้มานานเท่าใดก็ไม่ทำให้ทางเดินพิพาทตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางเดินตามเส้นสีน้ำเงินในแผนที่เอกสารหมาย จ.4 ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 10 เมตร แนวทางขนานเลียบกับแนวที่ดินด้านทิศตะวันตกจากใต้ขึ้นเหนือซึ่งอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 145958ตำบลบางไผ่ (บางไผ่น้อย) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรีของจำเลยเป็นทางจำเป็นของที่ดินรวม 4 แปลง คือ ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 4793ตำบลบางไผ่ (บางไผ่น้อย) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรีของโจทก์ที่ 1 ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 118567 ตำบลบางไผ่ (บางไผ่น้อย)อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ของโจทก์ที่ 2 ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 118571 ตำบลบางไผ่ (บางไผ่น้อย) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ของโจทก์ที่ 3 และที่ดินโฉนดเลขที่ 118570 ตำบลบางไผ่ (บางไผ่น้อย) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ของโจทก์ที่ 2และที่ 3 ให้จำเลยเปิดทางเดินพิพาทห้ามจำเลยและบริวารรื้อสะพานไม้ในทางเดินพิพาททำให้เสื่อมสภาพหรือปิดกั้นทางจำเป็นดังกล่าว คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ทั้งสามและจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามทั้งสี่แปลงด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 4793 โดยได้รับมรดกจากมารดาเมื่อปี 2523 เดิมมีนางเจือ โพธิ์เปรม มารดาโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของรวม ต่อมาได้มีการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2524 ทำให้ที่ดินทางทิศตะวันตกเป็นของนางเจือ คือที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 3165 และ 3168 ซึ่งต่อมาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 และบุตรคือ โจทก์ที่ 3 โดยต่อมาเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 118567 และ 118570 ส่วนที่ดินทางทิศตะวันออกเป็นของโจทก์ที่ 1 ที่ดินของโจทก์ที่ 1 ก่อนแบ่งแยก ทิศตะวันออกจดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 145958 ของจำเลยซึ่งแยกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 4794 ทิศตะวันตกจดที่ดินของบุคคลอื่น ซึ่งมีคูน้ำขวางกั้น ทิศเหนือจดที่ดินจำเลย และบุคคลอื่นมีคูน้ำขวางกั้นเช่นกัน ทางทิศใต้จดคลองบางไผ่น้อยทำให้ที่ดินของโจทก์ออกสู่ทางสาธารณะที่เป็นทางบกได้เพียงทางเดียว คือ ทางเดินพิพาทซึ่งต้องผ่านที่ดินของจำเลย และของบุคคลอื่นรวม 3 แปลง สำหรับคลองบางไผ่น้อยใช้เป็นทางเข้าออกทางน้ำโดยใช้เรือในการสัญจรออกสู้แม่น้ำเจ้าพระยา ครั้นถึงปลายปี 2528 ทางฝ่ายโจทก์ได้สร้างสะพานไม้ข้ามคูน้ำผ่านทางเดินพิพาทเนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีน้ำท่วม ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 4793 และ 4794 เดิมเป็นที่ดินซึ่งมีตราจองชั่วคราวสองแปลงติดต่อกัน ที่อำเภอแดงจันและนายศุข สิบตรี บรรพบุรุษของโจทก์ทั้งสามและจำเลยได้ซื้อมาพร้อมกันและต่อมาได้ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 4793 และ 4794 ตามเอกสารหมาย จ.39 ที่ดินทั้งสองแปลงจึงตกทอดมาถึงโจทก์ทั้งสามและจำเลยซึ่งล้วนแต่เป็นญาติกันทั้งสิ้น เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องจากจำเลยห้ามโจทก์ทั้งสามผ่านเข้าออกทางเดินพิพาท และให้โจทก์ทั้งสามรื้อสะพานไม้ที่สร้างในทางเดินพิพาทออก แต่โจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิผ่านเขาออกทางเดินพิพาท เพราะเป็นทางจำเป็น และทางเดินพิพาทตกเป็นภารจำยอมของที่ดินของโจทก์ทั้งสาม คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า ทางเดินพิพาทเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสามและของจำเลยมิได้เป็นที่ดินแปลงเดียวกันมาแต่เดิม หากแต่เป็นที่ดินซึ่งบรรพบุรุษของโจทก์ทั้งสามและของจำเลยต่างซื้อมาคนละแปลง แต่ปรากฏว่าที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ติดกัน จึงไม่เข้าลักษณะของที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้แปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 คงมีปัญหาว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสามมีที่ดินของจำเลยและที่ดินของผู้อื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 อันทำให้ต้องใช้ทางเดินพิพาทเป็นทางจำเป็นหรือไม่ เห็นว่า ตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามและจำเลยรับกันว่ามีคลองบางไผ่น้อยซึ่งเป็นทางสาธารณะที่ใช้สัญจรเข้าออกมาแต่เดิม ทั้งนี้โดยโจทก์ทั้งสามนำสืบโต้แย้งว่า คลองดังกล่าวใช้เข้าออกไม่สะดวกในช่วงฤดูแล้ง เพราะคลองตื้นเขิน ซึ่งข้อนี้นายเนตร ปิ่นแก้ว กำนันและผู้ใหญ่บ้านตำบลบางไผ่และมิได้เกี่ยวข้องเป็นญาติของโจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่ว่าทางหนึ่งทางใดได้เบิกความเป็นพยานโจทก์รับรองว่าสภาพคลองไม่สามารถใช้เรือสัญจรได้ในขณะน้ำลงเพราะน้ำแห้ง ปัจจุบันชาวบ้านริมคลองไม่มีเรือใช้แล้ว พยานเองก็ไม่เคยใช้เรือในการสัญจร คงใช้สัญจรทางบกโดยตลอด จึงเจือสมกับคำเบิกความของนายพจน์ รังศาสตร์ พยานจำเลยซึ่งเป็นบิดาจำเลยและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่มีทางเดินพิพาทมาแต่เดิมได้ตอบคำถามค้านของทนายความโจทก์ทั้งสามว่า ชาวบ้านที่อาศัยในละแวกนั้น ส่วนใหญ่เลิกใช้เรือเป็นพาหนะมาประมาณ 20 ปีแล้ว เหตุที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากในช่วงน้ำลงคลองบางไผ่น้อยน้ำแห้งเรือผ่านเข้าออกไม่สะดวก แม้จำเลยอ้างภาพถ่ายน้ำในคลองบางไผ่น้อยเป็นพยานหลักฐาน ตามภาพถ่ายหมาย ล.7 ถึง ล.11 ก็ไม่อาจยืนยันได้ แน่ชัดว่าขณะน้ำลงสภาพคลองเป็นอย่างไร จึงไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคลองบางไผ่น้อย แม้ใช้เรือสัญจรเข้าออกได้ แต่ก็ขาดความสะดวกที่จะใช้สอยเป็นทางสาธารณะได้ตามปกติ จึงยังไม่พอที่จะถือได้ว่าเป็นทางสาธารณะตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 เหตุนี้โจทก์ทั้งสามจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผ่านที่ดินของจำเลยซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะโดยใช้ทางเดินพิพาทผ่านเข้าออกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามใช้ทางเดินพิพาทเป็นทางจำเป็นนั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาเป็นประการต่อไปว่า ทางเดินพิพาทไม่ตกเป็นภารจำยอมของที่ดินของโจทก์ทั้งสามโดยอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสามยอมรับว่าได้ใช้ทางเดินพิพาทเข้าออกสู่ทางสาธารณะเรื่อยมา สืบทอดตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของโจทก์ทั้งสามและของจำเลยที่เป็นญาติใกล้ชิดมาแต่เดิม ดังจะเห็นได้จากการที่บรรพบุรุษของโจทก์ทั้งสามและของจำเลยต่างซื้อที่ดินติดต่อกัน จนกระทั่งปลายปี 2528 น้ำท่วมทางพิพาท ทางฝ่ายโจทก์จึงได้จัดสร้างสะพานไม้ข้ามคูน้ำในทางเดินพิพาทโดยบิดาจำเลยยินยอมให้ดำเนินการในลักษณะของความอะลุ่มอล่วยฉันเครือญาติ จึงเป็นการแสดงออกโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ทั้งสามได้ใช้ทางเดินพิพาทด้วยความสนิทสนมคุ้นเคย โดยถือว่าเป็นกันเองอย่างเช่นเครือญาติที่ผูกพันกันมานานสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของทั้งสองฝ่าย อันเป็นการใช้ทางเดินพิพาทโดยถือวิสาสะและเอื้อเฟื้อต่อกัน ทางเดินพิพาทจึงไม่ตกเป็นภารจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ทางเดินพิพาทตกเป็นภารจำยอมนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share