แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกของ ส. หนึ่งในสามส่วนของที่ดินมรดก 13 ไร่เศษ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์หนึ่งในสามส่วน และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามขอถือเอาคำพิพากษาแทน การแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินหรือชดใช้ราคาแทนที่ดินดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินมรดกบางส่วนให้จำเลยที่ 3 แล้ว และจำเลยที่ 3 รับโอนโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จึงไม่อาจเพิกถอนการโอนได้ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ 1 รับมาจากการขายที่ดินมรดกดังกล่าวจึงเข้าแทนที่ที่ดินมรดก ซึ่งถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นมรดกในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคสอง โดยมีส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับรวมอยู่ด้วย ฉะนั้นการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์จึงไม่นอกเหนือหรือเกินจากคำขอ
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ตรงตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ กรณีมิใช่เป็นเรื่องผิดพลาดเล็กน้อย หรือผิดหลง แต่เป็นเรื่องทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไปโจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขอให้แก้ไขตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ได้
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเลขที่ น.ส. 3 ก. จากเลขที่ 3706 และ 3707 เป็นเลขที่ 3906 และ 3907 ซึ่งในคำพิพากษาได้พิมพ์ผิดพลาดนั้น เมื่อตามคำพิพากษาฎีกาไม่มีกรณีจะต้องบังคับเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลง ดังกล่าว การแก้ไขตามคำขอจึงไม่จำเป็น เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่ประการใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๒๙๕๖, ๒๙๕๕, ๓๗๐๔, ๓๗๕๙, ๓๙๐๖ และ ๓๙๐๗ ตำบลกระนวน อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น และบ้านเลขที่ ๑๓๐ หมู่ ๓ เป็นของพันตำรวจโทสมาน กึ่งหนึ่ง ซึ่งตกทอดแก่โจทก์หนึ่งในสามให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากและขายที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๒๙๕๖ ตำบลกระนวน อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ นิติกรรมขายฝาก ขาย และแบ่งขายที่ดิน น.ส.๓. ก. เลขที่ ๒๙๕๕ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๑ นิติกรรมขายและแบ่งขายที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๓๗๕๙ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ระหว่างจำเลยที่ ๓ กับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคาบ้านจำนวน ๕,๐๐๐ บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๑๑๗,๕๐๐ บาท ให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ เพียงว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคาที่ดินมรดกแก่โจทก์ เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิรับมรดกของพันตำรวจโทสมาน หนึ่งในสามส่วน เฉพาะที่ดินมรดกตามฟ้องคิดเป็นที่ดิน ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๘๘ ตารางวา ราคา ๑๙๕,๕๘๐ บาท แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้พิพากษาว่าที่ดินมรดกตามฟ้องเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์หนึ่งในสามส่วน และขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ไปทำนิติกรรมจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ยอมไปทำนิติกรรมจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ โดยมิได้ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินหรือชดใช้ราคาแทนที่ดินดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินมรดกบางส่วนให้จำเลยที่ ๓ แล้ว และจำเลยที่ ๓ รับโอนโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต จึงไม่อาจเพิกถอน การโอนได้ ดังนั้นเงินที่จำเลยที่ ๑ รับมาจากการขายที่ดินมรดกจึงเข้าแทนที่ที่ดินมรดก ซึ่งถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นมรดกในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๖ วรรคสอง โดยมีส่วนที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับรวมอยู่ด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์จึงไม่นอกเหนือหรือเกินคำขอ
อนึ่ง ที่โจทก์ยื่นคำร้อง ขอให้แก้ไขคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง โดยอ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาผิดพลาดคลาดเคลื่อนเล็กน้อย กล่าวคือพิพากษาว่า สำหรับที่ดิน น.ส.๓. ก. เลขที่ ๓๗๐๔, ๓๗๐๖ และ ๓๗๐๗ เป็นทรัพย์มรดก แต่โจทก์มิได้มีคำขอมาในคำฟ้องจึงไม่อาจบังคับให้ได้ ความจริงโจทก์ได้ขอมาในคำฟ้องข้อ ๑ ของโจทก์แล้ว จึงขอให้ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ตรงตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ กรณีมิใช่เป็นเรื่องผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลง แต่เป็นเรื่องทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้แก้ไขตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๓ ได้ ส่วนการแก้ไขเลขที่ น.ส.๓ ก. จากเลขที่ ๓๗๐๖ และ ๓๗๐๗ เป็นเลขที่ ๓๙๐๖ และ ๓๙๐๗ ซึ่งเป็นการพิมพ์ผิดพลาดเล็กน้อย เห็นว่า เมื่อตามคำพิพากษาศาลฎีกาไม่มีกรณี จะต้องบังคับเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว การแก้ไขตามที่ขอจึงไม่จำเป็น เพราะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ แต่ประการใด
พิพากษายืน