แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้ข้อความในเอกสารจะใช้ถ้อยคำว่า “โอนสิทธิรับเงินสินจ้าง”โดยมิได้ใช้คำว่า “โอนสิทธิเรียกร้อง” ตามชื่อที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงก็ตาม แต่เมื่อใจความในเอกสารดังกล่าวทั้งฉบับเป็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ก็ย่อมต้องฟังว่าเป็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง และแม้หลักฐานการขอเบิกและจ่ายเงินจะระบุชื่อจำเลยร่วมผู้โอนสิทธิเรียกร้องเป็นผู้ขอเบิกและผู้รับก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายอยู่แล้วต้องเสียไปการที่จำเลยร่วมผู้โอนสิทธิเรียกร้องมีหนังสือบอกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องถึงโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องและจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โดยโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วยนั้น ย่อมไม่มีผลให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวที่มีต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลโดยเป็นรัฐวิสาหกิจในรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสปอร์ตก่อสร้างสระบุรี ให้เป็นผู้ก่อสร้างอาคารสถานีทวนสัญญาณพร้อมถนนที่ภูผาสาด อำเภอภูเรือจังหวัดเลย เป็นเงิน 14,544,000 บาท เมื่อได้ลงนามในสัญญากันแล้วห้างดังกล่าว ได้ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่ารับจ้างตามสัญญาข้างต้นนั้น ทุกงวดแก่โจทก์และได้มีหนังสือลงวันที่ 11กุมภาพันธ์ 2525 แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์ได้เข้ารับเงินค่าจ้างตามสัญญาจากจำเลยตั้งแต่งวดที่ 3 เป็นต้นมาจนถึงงวดที่ 9 ต่อมาวันที่ 24 มิถุนายน 2526 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าห้างดังกล่าวมีหนังสือขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องที่กล่าวข้างต้นโดยให้มีผลเป็นการยกเลิกตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2526 เป็นต้นไปโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 30 สิงหาคม 2526 คัดค้านว่า ห้างดังกล่าวไม่มีอำนาจขอยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้อง และขอรับเงินค่าจ้างที่จำเลยยังค้างชำระ จำเลยได้มีหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2526แจ้งว่า จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายจำนวน 1,454,400 บาทให้แก่ห้างดังกล่าวไปแล้ว ซึ่งเป็นการปฏิบัติมิชอบ เพราะการขอยกเลิกเกิดจากการแสดงเจตนาของห้างดังกล่าวฝ่ายเดียว โจทก์ไม่ได้ยินยอมด้วยจำเลยย่อมจะต้องรับผิดจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายแก่โจทก์อีกถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,727.50 บาท ขอบังคับให้จำเลยใช้เงินจำนวน1,462,127.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินต้น 1,454,400 บาท ต่อจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นเพียงตัวแทนในการรับเงินเท่านั้น เพราะในสัญญาจ้างเหมา โจทก์เป็นตัวแทนของห้างดังกล่าวในการทำสัญญากับจำเลย เมื่อห้างดังกล่าวส่งมอบงานแก่จำเลยเรียบร้อยแล้ว จำเลยได้ชำระเงินตามงวดให้แก่ห้างดังกล่าวโดยโจทก์เป็นผู้รับแทนจนถึงงวดที่ 9 ในวันที่ 13 มิถุนายน 2526 ระหว่างที่ห้างดังกล่าวยังมิได้ส่งมอบงานงวดที่ 10 ห้างดังกล่าวได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบว่าห้างดังกล่าวขอยกเลิกการโอนสิทธิรับเงินสินจ้างตามหนังสือลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2525 ต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน2526 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์หาได้โต้แย้งคัดค้านอย่างไรไม่ จนถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2526 ห้างดังกล่าวได้ส่งมอบงานงวดที่ 10 เรียบร้อยแล้ว ขอรับเงินสินจ้างไปจากจำเลย โดยจำเลยได้หักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายเป็นเงิน 62,539.20 บาท จำเลยไม่เคยผิดนัดในการชำระเงินดังกล่าว จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เงินค่าจ้างดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลหมายเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดสปอร์ตก่อสร้างสระบุรีเข้าเป็นจำเลยร่วมจำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมทำสัญญารับจ้างก่อสร้างอาคารสถานีทวนสัญญาณ พร้อมถนนที่ภูผาสาด อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ในราคา14,544,000 บาท กับจำเลย จำเลยร่วมแต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนในการรับเงินค่าจ้าง ต่อมาจำเลยร่วมได้แจ้งยกเลิกการเป็นตัวแทนรับเงินให้โจทก์และจำเลยทราบ โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านอย่างใดครั้นจำเลยจ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ 10 ให้แก่จำเลยร่วมไปแล้วโจทก์จึงมาคัดค้านภายหลัง เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 1,391,860.80 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2526 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของคู่ความนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยมีว่าหนังสือโอนสิทธิรับเงินตามเอกสารหมาย จ.ล.2 เป็นหนังสือที่จำเลยร่วมได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์หรือไม่เห็นว่าข้อความในหนังสือตามเอกสารหมาย จ.ล.2 แม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำโดยตรงว่า “โอนสิทธิเรียกร้อง” ตามชื่อที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยใช้ถ้อยคำว่า “โอนสิทธิรับเงินสินจ้าง” แทน แต่เมื่อได้พิเคราะห์ใจความในเอกสารดังกล่าวทั้งฉบับประกอบแล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ทั้งในวันเดียวกันกับที่ทำเอกสารหมาย จ.ล.2 จำเลยร่วมยังได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.ล.1บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลย และจำเลยได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.3แจ้งยืนยันรับทราบการโอนสิทธิรับเงินสินจ้างไปยังจำเลยร่วมอีกด้วยอันเป็นการแสดงว่าจำเลยทราบและยินยอมในการโอนสิทธิรับเงินสินจ้างที่จำเลยนำสืบว่า เป็นเพียงการตั้งโจทก์เป็นตัวแทนในการรับเงินนั้นฟังไม่ขึ้น แม้หลักฐานการขอเบิกและจ่ายเงินจะระบุชื่อจำเลยร่วมเป็นผู้ขอเบิกและผู้รับก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายต้องเสียไป จึงฟังได้ว่า จำเลยร่วมได้โอนสิทธิเรียกร้องตามฟ้องแก่โจทก์ และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลย และจำเลยยังได้ยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องนี้ด้วย ฉะนั้นจำเลยจึงต้องมีหน้าที่ชำระหนี้แก่โจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยตรง การที่จำเลยร่วมมีหนังสือไปยังจำเลยและโจทก์เพื่อขอยกเลิกการโอนสิทธิรับเงินสินจ้าง โดยโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย ย่อมไม่มีผลที่จะนำมาใช้ยันแก่โจทก์ได้ จำเลยจึงยังมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างงวดสุดท้ายคืองวดที่ 10 แก่โจทก์ การที่จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยร่วมไปไม่เป็นผลให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ที่มีต่อโจทก์ไปได้ ส่วนฎีกาจำเลยที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่เกี่ยวกับสิทธิไล่เบี้ยอันสืบเนื่องจากคดีนี้ หากจำเลยเห็นว่า จำเลยมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยร่วมประการใด ชอบที่จำเลยจะไปว่ากล่าวเอากับจำเลยร่วมเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน