คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในการฟ้องคดีด้วยวาจา โจทก์ได้บรรยายในบันทึกหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาและบันทึกคำฟ้องว่า จำเลยนี้โดยทุจริต ได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าเป็นตัวแทนของบริษัท พ. จะส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศโดยขอเบิกเงินจากผู้เสียหาย 150,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้ผู้เสียหายไป ซึ่งความจริงจำเลยมิได้เป็นตัวแทนบริษัท พ. แต่อย่างใด ดังนี้ เป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา341 และถูกต้องตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 19 วรรคสองแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องบรรยายว่าผู้เสียหายมีความเกี่ยวข้องกับบริษัท พ. หรือจำเลยอย่างไร

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 1 ปี และให้จำเลยใช้หรือคืนเงิน 150,000 บาทแก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีข้อวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรค 2 อันจะลงโทษจำเลยได้หรือไม่

พิเคราะห์แล้ว ตามบันทึกหลักฐานการฟ้องคดีด้วยวาจาและบันทึกคำฟ้อง โจทก์กล่าวฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2523 เวลากลางวันถึงวันที่ 30 มีนาคม 2524 เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยนี้โดยทุจริต ได้ใช้อุบายหลอกลวงนายนที สันติปาตี ผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า เป็นตัวแทนบริษัทพีอาร์ จำกัด จะจัดส่งคนงานไปทำงานต่างประเทศโดยขอเบิกเงินจากผู้เสียหายจำนวน 150,000 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงมอบเงินจำนวน 150,000 บาทให้จำเลยไป ซึ่งความจริงจำเลยไม่ได้เป็นตัวแทนบริษัทพีอาร์ จำกัด แต่อย่างใดเหตุเกิดที่ตำบลสวนใหญ่อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ดังนี้ เห็นว่าในการฟ้องคดีด้วยวาจา โจทก์ได้บันทึกคำฟ้องแจ้งต่อศาลถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดประกอบด้วยข้อเท็จจริงว่า จำเลยโดยทุจริตได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอย่างไร ความจริงเป็นอย่างไร และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นจำเลยได้ทรัพย์สินอะไรไปจากผู้ถูกหลอกลวง เป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ความผิดตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและถูกต้องตามมาตรา 19 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 บริบูรณ์แล้ว โจทก์ไม่จำเป็นต้องบรรยายข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากผู้เสียหายอย่างไร และผู้เสียหายมีความเกี่ยวข้องกับบริษัทพีอาร์ จำกัด หรือจำเลยอย่างไร ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เพราะเป็นเพียงรายละเอียดในเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้เสียหายจึงต้องมอบเงินให้จำเลย เมื่อตามคำฟ้องเข้าใจได้แล้วว่าเหตุที่ผู้เสียหายมอบเงินให้จำเลยไปเพราะหลงเชื่อคำหลอกลวงของจำเลยว่าเป็นตัวแทนบริษัทพีอาร์ จำกัด ซึ่งจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงให้การรับสารภาพ คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายที่กล่าวข้างต้น มิใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง เมื่อจำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องเสียนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยขอลดโทษมาในอุทธรณ์นั้นเห็นว่าไม่จำต้องย้อนสำนวน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าศาลชั้นต้นวางโทษเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะลดโทษตามอุทธรณ์ของจำเลย

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น”

Share