คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7968/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้มีการแบ่งปัน การที่จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินต้องถือว่าได้ถือไว้แทนทายาทอื่นด้วย เมื่อโจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งจึงเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันให้เสร็จสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งมรดกนี้ได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 กรณีต้องตามมาตรา 1748 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้กล่าวถึงทรัพย์มรดกของ ย. ไว้ในคำฟ้องการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ได้รับที่ดินพิพาท 1 ใน 12 ส่วนของเนื้อที่ดินทั้งแปลงเท่ากับนำที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของ ย. ไปแบ่งให้โจทก์ด้วย เป็นการพิพากษาเกินคำขอ นั้น จำเลยมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่าวินิจฉัยคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง เพียงแต่อ้างว่าส่วนแบ่งของโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นั้นไม่ถูกต้อง เพราะเกินคำขอ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์ภาค 2ย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งได้โดยโจทก์ไม่จำต้องอุทธรณ์ในเรื่องนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนให้แก่โจทก์ 8 ไร่ 2 งาน 9 ตารางวา (ที่ถูก 8 ไร่ 83 ตารางวา) และส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยให้โจทก์เป็นผู้ถือโฉนดที่ดินไว้หากเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาหากไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้แก่โจทก์ 1 ใน 12 ส่วน

จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1456 ตำบลบึงทองหลาง (คลอง 10 ฝั่งตะวันตก) อำเภอคลองหลวงจังหวัดปทุมธานี ให้แก่โจทก์ 1 ใน 12 ส่วน ของเนื้อที่ทั้งหมด หากเพิกเฉยหรือไม่สามารถดำเนินการได้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้จัดการแบ่งตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้ยกคำขอในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งสอง ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและให้โจทก์เป็นผู้ถือโฉนดที่ดินไว้

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นบุตรของหม่อมเจ้าสมภพและหม่อมเยื้อน เกษมศรีมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 12 คน หม่อมเจ้าสมภพถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2506 มีมรดกหลายรายการรวมทั้งที่ดินพิพาทหม่อมเยื้อนเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2516 หม่อมเยื้อนทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคน คนละเท่า ๆ กัน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 แต่ในวันที่ 19 เมษายน 2522 มีการนำหนังสือมอบอำนาจของหม่อมเยื้อนตามเอกสารหมาย จ.7 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการโอนทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทไปเป็นชื่อของทายาทคือจำเลยทั้งสองเพียงสองคน ต่อมาวันที่ 17 กันยายน 2527 หม่อมเยื้อนถึงแก่กรรมนางจันทร ตู้จินดา เป็นผู้จัดการมรดก มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพื่อตนเองหรือถือไว้แทนทายาทอื่นด้วย เห็นว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของหม่อมเจ้าสมภพ เมื่อหม่อมเจ้าสมภพถึงชีพิตักษัยโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้จึงเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่บรรดาทายาทของหม่อมเจ้าสมภพทุกคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 ข้อกฎหมายนี้เชื่อว่าหม่อมเยื้อนผู้จัดการมรดกต้องทราบเป็นอย่างดี ดังปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินในพินัยกรรมมีใจความสรุปได้ว่า หากเป็นทรัพย์สินที่มิใช่สินเดิมโดยแท้ของหม่อมเจ้าสมภพ หม่อมเยื้อนจะระบุให้แก่ทายาทแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่ถ้าเป็นทรัพย์สินที่หม่อมเจ้าสมภพได้มาจากตระกูลเดิม ได้แก่ที่ดินพิพาท ในพินัยกรรมข้อ 6 ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “ส่วนที่นาเนื้อที่ประมาณ100 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มีชื่อหม่อมเจ้าสมภพเกษมศรี เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการมรดกของท่านตามคำสั่งศาลนั้น ขอยกให้แก่บุตรธิดาของหม่อมเจ้าสมภพ เกษมศรี ทุกคนคนละเท่า ๆ กัน” นอกจากนี้ในวันเปิดพินัยกรรมของหม่อมเยื้อนซึ่งมีทายาทมาประชุมพร้อมกัน เว้นจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียวนั้น โจทก์เบิกความว่า เมื่อนางจันทรผู้จัดการมรดกอ่านพินัยกรรมมาถึงข้อ 6 นางจันทรได้สอบถามว่าโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทอยู่ที่ใคร จำเลยที่ 2 รับว่าอยู่ที่ตน และบอกว่าจะไม่โกงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เมื่ออ่านพินัยกรรมมาถึงข้อ 6 จำเลยที่ 2 ยอมรับต่อทายาทว่าเป็นผู้ถือโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทไว้จริง แต่เบิกความบ่ายเบี่ยงว่ามิได้ถือไว้แทนทายาททุกคน จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จะเห็นได้ว่าหากจำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทไม่เป็นมรดกที่จะต้องแบ่งให้แก่ทายาททุกคน เพราะก่อนหม่อมเยื้อนถึงแก่กรรมได้โอนให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว ก็น่าที่จะแถลงข้อเท็จจริงให้แก่บรรดาทายาททราบเสียแต่วันนั้น จึงทำให้มีข้อสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.7ที่ใช้เป็นหลักฐานไปดำเนินการโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยทั้งสองนั้นถูกต้องตรงตามเจตนาที่แท้จริงของหม่อมเยื้อนหรือไม่ ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ศาลล่างทั้งสองก็ได้วินิจฉัยถึงข้อพิรุธแสดงความไม่น่าเชื่อถือของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไว้โดยละเอียดเป็นการถูกต้องแล้ว จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก เมื่อหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.7 ทำขึ้นโดยมีข้อพิรุธ ไม่น่าเชื่อว่าจะถูกต้องตรงตามเจตนาที่แท้จริงของหม่อมเยื้อน จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างและแสวงสิทธิใด ๆ จากหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของตนอันกระทบต่อความสมบูรณ์ของพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.4 ที่หม่อมเยื้อนได้ทำไว้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมนั้นจึงไม่เป็นอันถูกเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1696 ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งว่า หากหม่อมเยื้อนเห็นว่าการทำหนังสือมอบอำนาจไม่เป็นไปตามเจตนาของตนก็น่าจะยับยั้ง หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลังนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า แม้จะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทไปแล้ว หม่อมเยื้อนก็ยังเป็นผู้ถือสิทธิเก็บผลประโยชน์ในที่ดินพิพาทเช่นที่เคยปฏิบัติตลอดมา จึงย่อมจะไม่เห็นความแตกต่างที่พอจะสังเกตได้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับที่ดินพิพาทที่หม่อมเยื้อนจะต้องเข้าไปแก้ไข นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์และหม่อมราชวงศ์ชุณหวงศ์ เกษมศรี พยานโจทก์ซึ่งเป็นพี่ชายโจทก์และจำเลยทั้งสองตรงกันว่าได้เคยไปทวงถามเรื่องที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองต่างก็รับว่าจะแบ่งให้พยานโจทก์จึงสมเหตุผลเชื่อมโยงกันมาตลอด ฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้มีการแบ่งปัน การที่จำเลยทั้งสองมีชื่อในโฉนดที่ดินจะโดยเหตุใดก็ตาม ต้องถือว่าได้ถือไว้แทนทายาทอื่นด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเอง มิได้ครอบครองแทนทายาทอื่น ขัดทั้งต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังวินิจฉัยมาข้างต้น จึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งจำเลยทั้งสองครอบครองแทนทายาทอื่น จึงต้องถือว่าโจทก์ผู้เป็นทายาทคนหนึ่งได้ครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนี้ด้วย หาใช่จำเลยทั้งสองแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นผู้ครอบครองดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวมาในฎีกาไม่ เมื่อถือว่าโจทก์ก็เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกันให้เสร็จสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งมรดกนี้ได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 บัญญัติไว้ กรณีต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ข้อที่จำเลยทั้งสองฎีกาต่อมาว่า โจทก์ไม่ได้กล่าวถึงทรัพย์มรดกของหม่อมเยื้อนไว้ในคำฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้โจทก์ได้รับที่ดินพิพาท 1 ใน 12 ส่วน ของเนื้อที่ดินทั้งแปลงเท่ากับนำที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของหม่อมเยื้อนไปแบ่งให้โจทก์ด้วย เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ในข้อนี้เห็นว่าจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า วินิจฉัยคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไรบ้าง เพียงแต่อ้างว่าส่วนแบ่งของโจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นั้นไม่ถูกต้องเพราะเกินคำขอจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า เมื่อศาลชั้นต้นมิได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และโจทก์มิได้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใด ก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งได้ โดยโจทก์ไม่จำต้องอุทธรณ์ในเรื่องนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้วฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1456 ตำบลบึงทองหลาง (คลอง 10ฝั่งตะวันตก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี นั้นเป็นการคลาดเคลื่อนไป โดยที่ดินแปลงดังกล่าวที่ถูกตั้งอยู่ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานีกรณีถือได้ว่าเป็นข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1456 ตำบลบึงทองหลาง (คลอง 10 ฝั่งตะวันตก) อำเภอลำลูกกาจังหวัดปทุมธานี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share