คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7961/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 ที่บัญญัติว่า”สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไป.. ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตาม มาตรา 1533..”นั้น เป็นการแบ่งสินสมรสที่ฝ่ายหนึ่งจำหน่ายจ่ายโอนไปหรือทำให้สูญหายไปโดยมิชอบ ในกรณีที่หย่ากันให้แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ฝ่ายชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวม จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินกึ่งหนึ่ง เมื่อจำเลยขายที่ดินไปได้เงินเท่าใด โจทก์ก็ควรได้รับเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จำเลยขายไป มิใช่กึ่งหนึ่งของราคาที่ดินปัจจุบัน การกำหนดมูลค่าของที่ดินที่จำเลยจำหน่ายโอนไปก่อนฟ้องเพื่อเป็นฐานในการคิดคำนวณค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ จึงต้องคิดจากราคา ณ วันที่จำเลยจำหน่ายจ่ายโอน
โจทก์ไม่ได้มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยด้วยจึงเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์สินตามฟ้องให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง โดยปราศจากภาระติดพัน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์สิน 100,000,000 บาท แก่โจทก์ มิฉะนั้น ให้นำทรัพย์สินเหล่านี้ออกขายทอดตลาดแบ่งเงินสุทธิให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 24887, 24892 และ 24898 ตำบลยี่โถ อำเภอธัญบุรีจังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและเรือนไทยแก่โจทก์กึ่งหนึ่งโดยการตกลงกันเอง หากตกลงกันเองไม่ได้ให้ประมูลขายกันเองระหว่างโจทก์กับจำเลย หรือขายทอดตลาดแบ่งเงินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 8,847,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6162 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และกิจการโรงเรียนอนุบาลนิษาแก่โจทก์เพิ่มเติมตามวิธีการที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษา ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย16,347,125 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จดทะเบียนขายที่ดินแต่ละแปลงหรือวันที่ที่ดินแต่ละแปลงขาดหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้ซื้อฝากเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2515ระหว่างนั้นได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 380 และ 381 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 40 ไร่ ราคา 700,000 บาท จากนายสมัย ชินะผา แล้วแบ่งแยกที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 381, 6168,6163, 6162, 24887, 24892 ถึง 24898 และ 26517 ถึง 26521รวม 17 แปลงให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ตามเอกสารหมาย จ.14 ปลูกสร้างเรือนไทย 11 หลัง ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและเปิดกิจการโรงเรียนอนุบาลวนิษาหลังจากจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม2519 ต่อมาจำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 26517 ถึง 26520 แก่นายชูศักดิ์กับพวก โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนการโอนดังกล่าวในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1020/2533ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 380 และ 381 ซึ่งโจทก์กับจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์และค่าเสียหาย 1,000,000 บาท แทนแก่โจทก์เพราะนายชูศักดิ์กับพวกซื้อที่ดินโดยสุจริตตามความในเอกสารหมาย จ.23, จ.24 และ จ.50 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกที่โจทก์ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 6162 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้ขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่นายขจรศักดิ์กัลยาณสันต์ไปแล้วจึงไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ ขอให้ศาลฎีกากำหนดค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับโฉนดเลขที่ 6162 ดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยได้ขายเฉพาะส่วนของตนเนื้อที่ 376.5 ตารางวา ในโฉนดเลขที่ 6162ให้แก่นายขจรศักดิ์ ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาสารบัญจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.35 แผ่นที่ 23 ถึง 25 จำเลยจึงไม่อาจแบ่งที่ดินส่วนของจำเลยในโฉนดเลขที่ 6162 ให้โจทก์ได้ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดราคาที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ได้ขายไป ซึ่งสำหรับที่ดินส่วนนี้โจทก์มิได้นำสืบว่าจำเลยขายไปในราคาเท่าใด แต่อ้างว่าที่ดินดังกล่าวบริษัทศิริดา แอพเพรซัล จำกัดทำการประเมินราคาไว้ตามเอกสารหมาย จ.35 ถึง จ.37มีประมาณ 40 ไร่ ราคาประมาณ 160,000,000 บาท (ไร่ละ4,000,000 บาท หรือตารางวาละ 10,000 บาท) ซึ่งจำเลยก็มิได้นำสืบว่าขายที่ดินดังกล่าวไปในราคาเท่าใด ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดราคาที่ดินตามโฉนดเลขที่ 24893ถึง 24896 รวม 4 แปลง เนื้อที่ 8 ไร่ ที่จำเลยตีใช้หนี้ให้แก่นางประอรชุนและขายฝากแก่นางนฤมล นางทัสสนี และนางสุจิตรา รวมราคาทั้งสิ้น 27,600,000 บาท (เฉลี่ยราคาไร่ละ 3,450,000 บาท หรือตารางวาละ 8,625 บาท) ที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวคือที่ดินเลขที่ดิน 92 ถึง 94 และ 95 ตามเอกสารหมาย จ.35 แผ่นที่ 23ซึ่งมิได้อยู่ติดถนนสาธารณะ ส่วนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6162 นั้น คือที่ดินเลขที่ดิน 25 ตามเอกสารหมาย จ.35 แผ่นที่ 23 ซึ่งอยู่ติดถนนสาธารณะและอยู่ใกล้กับที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวน่าจะมีราคาสูงกว่าที่ดินทั้งสี่แปลง ดังกล่าว จึงเห็นสมควรกำหนดราคาที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6162 ให้ตารางวาละ 10,000 บาท เฉพาะส่วนที่จำเลยขายในเนื้อที่ 376.5 ตารางวา เป็นเงิน 3,765,000 บาทจำเลยจึงต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ สำหรับการขายที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 6162 เป็นเงิน 1,882,500 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่กำหนดราคาที่ดินตามโฉนดเลขที่ 6162 เพื่อให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น…

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปที่โจทก์ฎีกาว่า สำหรับมูลค่าของที่ดินแปลงที่จำเลยได้จำหน่ายจ่ายโอนไปก่อนฟ้องคดีนี้ ในการกำหนดมูลค่าของที่ดินเพื่อเป็นฐานในการคิดคำนวณค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์นั้นควรจะคิดจากราคาปัจจุบันมิใช่คิดจากราคา ณ วันที่จำเลยจำหน่ายจ่ายโอนไป เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 บัญญัติให้ถือเสมือนว่าทรัพย์นั้นยังต้องมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 ที่บัญญัติว่า”สินสมรสที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายไปเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียวก็ดี จำหน่ายไปโดยเจตนาทำให้คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ดี จำหน่ายไปโดยมิได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งใน กรณีที่กฎหมายบังคับว่าการจำหน่ายนั้นจะต้องได้รับความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยก็ดี จงใจทำให้สูญหายไปก็ดี ให้ถือเสมือนว่าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่เพื่อจัดแบ่งสินสมรสตามมาตรา 1533…” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการแบ่งสินสมรสที่ฝ่ายหนึ่งจำหน่ายจ่ายโอนไปหรือทำให้สูญหายไปโดยมิชอบ ในกรณีที่หย่ากันให้แบ่งทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ฝ่ายชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินในฐานะเจ้าของรวม จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินกึ่งหนึ่ง เมื่อจำเลยขายที่ดินไปได้เงินเท่าใด โจทก์ก็ควรได้รับเงินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จำเลยขายไป มิใช่กึ่งหนึ่งของราคาที่ดินปัจจุบันดังที่โจทก์ฎีกา ศาลล่างทั้งสองกำหนดมูลค่าของที่ดินเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้ให้โจทก์จากราคา ณ วันที่จำเลยจำหน่ายจ่ายโอนไปนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยด้วยนั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองจึงเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงิน 18,229,625 บาท โดยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ และไม่ต้องจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6162 ตำบลบึงยี่โถ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share