คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7955/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาททั้งสองฝ่าย แต่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะนำสืบและฎีกาได้ว่า เหตุนี้เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 มากกว่า ซึ่งตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ 2 และแม้คดีนี้ฎีกาของโจทก์ที่ 1 จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผลของคดีนี้ในชั้นฎีกาแตกต่างขัดกันกับในชั้นอุทธรณ์ จึงให้ถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 จึงให้มีผลถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 80,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 1,119,229 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 119,229 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 279,252.66 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 79,252.66 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 2 ว่า เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างมีส่วนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันหรือไม่ เห็นว่า การพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาททั้งสองฝ่าย โดยโจทก์ที่ 2 ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ได้ขับรถยนต์ออกมาจากไหล่ถนนด้านซ้าย แล้วขับข้ามมาทางด้านขวาโดยเลี้ยวขวากะทันหันไม่ขับชิดเส้นกึ่งกลางถนนก่อนถึงทางแยกไม่น้อยกว่า 30 เมตร ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารตามหลังมาด้วยความเร็วสูงแซงล้ำเข้าไปในทางเดินรถที่แล่นสวนทาง เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกันอย่างไรก็ดี โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะนำสืบและฎีกาได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 มากกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ตามที่ได้เบิกความในคดีอาญาได้ความว่า ถนนสายเกิดเหตุไม่ใช่เส้นทางปกติที่ระเบียบของจำเลยที่ 2 กำหนดเส้นทางไว้ ขณะเกิดเหตุถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีสภาพเปียกเพราะมีการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กัน และปรากฏว่ามีรอยยางที่เกิดจากการห้ามล้อของรถยนต์โดยสารก่อนถึงจุดชน 39 เมตร กับเลยจากจุดชนไปถึงท้ายรถยนต์โดยสารที่จอดอยู่ 21 เมตร จำเลยที่ 1 เห็นรถยนต์เก๋งที่โจทก์ที่ 2 ขับครั้งแรกห่าง 50 เมตร ดังนี้ ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วสูงมากแซงรถคันอื่นล้ำเข้าไปในทางเดินรถที่แล่นสวนทางมา แม้จำเลยที่ 1 เห็นรถยนต์เก๋งที่โจทก์ที่ 2 ขับครั้งแรกในระยะห่างถึง 50 เมตร ทั้งสภาพถนนเปียกลื่นและจำเลยที่ 1 ไม่ชำนาญเส้นทาง จำเลยที่ 1 ก็ยังคงขับแซงรถคันอื่นด้วยความเร็วสูงมากล้ำเข้าไปในทางเดินรถที่แล่นสวนทางมาจนเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์เก๋งที่โจทก์ที่ 2 ขับเลี้ยวขวาโดยกะทันหันดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นพนักงานขับรถยนต์โดยสารสาธารณะย่อมต้องมีความระมัดระวังในการขับขี่รถดังกล่าวยิ่งกว่าผู้ขับขี่รถโดยทั่วไป อีกทั้งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ในวันเกิดเหตุมีผู้โดยสารมากประมาณ 50 คน จำเลยที่ 1 จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยใช้ความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น แต่จำเลยที่ 1 กลับขับรถยนต์โดยสารโดยประมาทดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาททั้งสองฝ่าย แต่ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น และแม้คดีนี้ฎีกาของโจทก์ที่ 1 จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อผลของคดีนี้ในชั้นฎีกาแตกต่างขัดกันกับในชั้นอุทธรณ์ จึงให้ถือตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ที่สูงกว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 จึงให้มีผลถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท

Share