แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในขณะยื่นฟ้องโจทก์แนบสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันโดยมิได้ปิดอากรแสตมป์มาท้ายคำฟ้องแต่ในชั้นพิจารณาโจทก์ได้ส่งต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันที่ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนและขีดฆ่าแล้วเป็นพยาน จึงรับฟังได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118แม้ไม่ได้เสียเงินเพิ่มอากรก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์1 คัน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถยนต์แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน263,082 บาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 200,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาทแก่โจทก์ นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หรือใช้ราคาแทน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์9 งวด และเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2532 โจทก์ได้ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนไปแล้ว จึงไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 200,000บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์จำนวน 200,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือชำระราคาแทนแต่ไม่เกิน 6 เดือน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องไปจากโจทก์ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกมีว่า เอกสารหมาย จ.3 และจ.4 รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เนื่องจากในขณะฟ้องโจทก์แนบสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวโดยมิได้ปิดอากรแสตมป์มาท้ายคำฟ้อง แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์ได้ส่งต้นฉบับหนังสือสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันที่ปิดอากรแสตมป์และขีดฆ่าครบถ้วนแล้วเป็นพยาน จำเลยที่ 1อ้างว่า โจทก์ได้เรียกเงินค่าแสตมป์ไปจากจำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ 28กุมภาพันธ์ 2532 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน รัฐต้องขาดรายได้ โจทก์จะต้องนำเอกสารดังกล่าวไปให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรปรับก่อนจึงจะใช้เป็นพยานหลักฐานได้ เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมาตรา 118 บัญญัติว่า “ตราสารใดไม่ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว…” ดังนี้ แม้เดิมสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.3และ จ.4 มิได้ปิดอากรแสตมป์ แต่เมื่อได้ปิดครบถ้วนและขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้วก่อนศาลมีคำพิพากษาก็รับฟังได้ แม้ไม่ได้เสียเงินเพิ่มอากรก็ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน