แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข เกิดขึ้นตั้งแต่เวลากลางวันต่อเนื่องถึงเวลากลางคืนและวันต่อมาทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จึงเป็นผลของการกระทำผิดฐานบุกรุกในเวลากลางวันเท่านั้น จะถือว่าจำเลยกระทำผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 362, 365 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 697/2537 และ 1428/2537 ของศาลชั้นต้นด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 2ในคดีที่โจทก์ ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2)(3) ประกอบด้วยมาตรา 362,83 ให้จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 แต่ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปีส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 697/2537 และ 1428/2537 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลยังมิได้มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อสองมีว่า การที่จำเลยเข้าไปภายในบริเวณสถานที่ก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำตามโครงการเขื่อนปากมูลดังกล่าวเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายนภ ด้วงเงิน และนายพีระไชยมาศ พนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้เสียหายคดีนี้กับนายลำพัง สงไพสน และนายอดุลย์ บิดา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นประจักษ์พยานเบิกความในทำนองเดียวกันว่าจำเลยเป็นหนึ่งในกลุ่มของแกนนำที่ผลัดเปลี่ยนกันใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีการก่อสร้าง และในวันที่ 8 มกราคม 2537 จำเลยกับพวกก็นำกลุ่มคนดังกล่าวข้ามสะพานไม้ไผ่ซึ่งจัดทำขึ้นเข้าไปยังบริเวณสถานที่ขุดเจาะหินเพื่อทำเป็นร่องน้ำในการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำแล้วห้อมล้อมยึดเครื่องขุดเจาะหินซึ่งมีอยู่ทั้งหมดรวม 3 เครื่อง และจำเลยยังได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงในทำนองปลุกระดมมวลชนอีกด้วย จนกระทั่งวันที่ 12 เดือนเดียวกัน เมื่อนายประสงค์ศักดิ์บุญเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีไปเจรจากับกลุ่มคนดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงยอมส่งมอบเครื่องขุดเจาะหินคืนและออกจากบริเวณที่ก่อสร้าง เห็นว่า ประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวล้วนเป็นพนักงานที่ต้องปฏิบัติงานในสถานที่นั้น น่าเชื่อว่าเบิกความตามที่รู้เห็น ซึ่งเมื่อพิจารณาก็ปรากฏชัดว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้ากระทำการในลักษณะขัดขวางการปฏิบัติงาน และจำเลยเป็นหนึ่งในแกนนำที่พนักงานของผู้เสียหายต้องเข้าไปเจรจาขอร้องมิให้ขัดขวางการปฏิบัติงาน แม้จำเลยจะสืบพยานต่อสู้ว่า จำเลยกับพวกชุมนุมต่อต้านการก่อสร้างเพราะจะเป็นผลร้ายแก่ชาวบ้านในละแวกนั้นที่นั้นอันเป็นสิทธิที่จะกระทำได้ แต่การคัดค้านต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย จะกระทำการคัดค้านใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยพลการเข้าไปยึดเครื่องมือขุดเจาะหินอันเป็นการรบกวนการครอบครองเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่อาจปฏิบัติงานได้หาได้ไม่เพราะรังแต่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อสังคมส่วนรวมและกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงของประเทศชาติด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2537 เวลากลางวันต่อเนื่องถึงเวลากลางคืนและวันต่อมาทั้งเวลากลางวันและกลางคืนจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2537 เวลากลางวัน ความผิดฐานบุกรุกคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เวลากลางวันแล้ว การที่จำเลยบุกรุกต่อเนื่องถึงเวลากลางคืนและวันต่อมาทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จึงเป็นผลของการกระทำผิดฐานบุกรุกในเวลากลางวันเท่านั้นจะถือว่าจำเลยกระทำผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(3) ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษดังกล่าวแก่จำเลยด้วยจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365(2) ประกอบด้วยมาตรา 362, 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3