แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การแย่งการครอบครองที่ดินจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่น จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ร. เพราะร. ได้ยกให้ ว. ก่อนตาย ว. ได้ครอบครองทำประโยชน์มาประมาณ20 ปี โดยโจทก์ไม่เคยเกี่ยวข้อง แล้ว ว. ได้ขายให้จำเลย จำเลยจึงเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อจาก ว. ไม่ได้บุกรุก เห็นได้ว่าจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ต้น จำเลยมิได้ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ คดีจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่าโจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินพิพาทเกิน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองหรือไม่จึงไม่ชอบ
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมหากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลอื่นกระทำการโดยให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ เพราะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาบางส่วนขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินตาม ส.ค.1เลขที่ 3 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรีให้จำเลยทั้งสองปรับพื้นดินให้อยู่สภาพเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลอื่นกระทำการโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายกับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 100,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายอีกปีละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินแปลงพิพาทตาม ส.ค.1เลขที่ 3 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรีกึ่งหนึ่ง ทางด้านทิศตะวันออกเป็นของโจทก์และทายาทโดยธรรมของนางทอน สาระวงษ์ ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินดังกล่าวและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลอื่นกระทำการโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่าย กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาท แก่โจทก์และค่าเสียหายอีกปีละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมส่วนที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้นให้จำเลยทั้งสองนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์ไม่ยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในกำหนด จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระเกินมาจำนวน 61,641.50 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบรับและไม่โต้แย้งกันฟังได้ว่า โจทก์เป็นบุตรของนายบุญ สาระวงษ์ และนางทอนสาระวงษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน คนหนึ่งคือนายละออง สาระวงษ์นางทอนเป็นบุตรนางหราบหรือหลาบหรือกุหลาบ พระฉาย มีน้องร่วมมารดาคนหนึ่งคือนางหวัน มุนิต นางหราบ นางทอน และนายละออง ต่างถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยนางหราบตายไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2510 นางทอนตายวันที่ 30 กันยายน 2531 นายละอองตายปี 2534 เดิมที่ดินแปลงพิพาทตาม ส.ค.1 เลขที่ 3 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 100 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา เป็นของนางหราบใช้ทำนาทำไร่และปลูกบ้านอยู่อาศัยร่วมกับนางทอนและนางหวัน นางทอนแต่งงานก่อนนางหวัน แต่งงานแล้วนางทอนได้แยกครอบครัวออกไปอยู่กับนายบุญสามีส่วนนางหวันและนายแผน มุนิต สามียังคงอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทร่วมกับนางหราบ ปี 2524 หลังจากนางหราบตายไปแล้ว นางหวันได้นำที่ดินแปลงพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนเองทั้งแปลง นางทอนคัดค้านเจ้าพนักงานจึงไม่ออกโฉนดที่ดินให้นางหวัน ต่อมาปี 2532 หลังจากนางทอนตายไปแล้วนางหวันได้นำที่ดินแปลงพิพาทไปขายให้แก่จำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาท มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนางหราบหรือไม่จำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางหราบเพราะนางหราบได้ยกให้นางหวันแล้วตั้งแต่ก่อนนางหราบจะถึงแก่ความตาย และนางหวันได้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของตลอดมา ที่ดินแปลงพิพาทจึงเป็นของนางหวัน เมื่อนางหวันได้ขายให้จำเลยทั้งสองแล้วที่ดินแปลงพิพาทจึงตกเป็นของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองนำสืบว่า นอกจากที่ดินแปลงพิพาทแล้วนางหราบยังมีที่ดินอยู่อีกแปลงหนึ่งเนื้อที่เท่า ๆ กับที่ดินแปลงพิพาทและนางหราบได้ยกให้นางทอนไปก่อนแล้วจึงได้ยกที่ดินแปลงพิพาทให้นางหวันด้วยวาจา หลังจากนางหราบตายไปแล้วนางหวันได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทเพียงลำพัง นางทอน โจทก์และนายละอองไม่เคยมายุ่งเกี่ยว ฝ่ายโจทก์นำสืบว่า นางหราบมีที่ดินแปลงพิพาทอยู่แปลงเดียวไม่เคยยกให้นางหวันหลังจากนางหราบตายไปแล้ว นางทอนและนางหวันได้แบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดคนละครึ่ง โดยนางทอนครอบครองทางด้านทิศตะวันออก นางหวันครอบครองทางด้านทิศตะวันตก นางทอนตายแล้วโจทก์และนายละอองได้เข้าครอบครองส่วนของนางทอนสืบต่อมาเห็นว่า นางห่อน ศรีนาก นางลำดวน สาระวงษ์ และนายเวิน เยาวยอดพยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นางหราบมีที่ดินอยู่แปลงเดียวคือที่ดินแปลงพิพาท ทั้งนางห่อนเบิกความด้วยว่า หลังจากนางทอนแยกครอบครัวออกไปแล้วนางทอนยังเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงพิพาทอยู่ และนายเวินก็เบิกความว่า หลังจากนางหราบตายแล้ว นางทอนและนางหวันต่างก็ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทโดยนางทอนทำประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออกร่วมกับลูก ๆ นางหวันทำประโยชน์ทางด้านทิศตะวันตกนางทอนตายแล้ว โจทก์และนายละอองก็ยังเข้าไปในที่ดินดังกล่าว เจือสมกับข้อนำสืบของโจทก์ ประกอบกับปรากฏว่าเมื่อนางหวันนำที่ดินแปลงพิพาทไปขอออกโฉนดและนางทอนคัดค้านแล้ว นางหวันก็หาได้นำคดีไปฟ้องร้องเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของตนทั้งแปลงแต่อย่างใดไม่จึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่านางหราบมีที่ดินแปลงพิพาทอยู่แปลงเดียวมิได้ยกให้นางหวัน เมื่อนางหราบถึงแก่ความตาย ที่ดินแปลงพิพาทจึงเป็นมรดกของนางหราบอันตกได้แก่นางทอนกับนางหวันและนางทอนกับนางหวันได้แบ่งแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัดแล้วคนละครึ่ง โดยนางทอนครอบครองทางด้านทิศตะวันออก นางหวันครอบครองทางด้านทิศตะวันตกที่ดินแปลงพิพาทกึ่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นส่วนที่พิพาทกันอยู่ในคดีนี้จึงตกเป็นของนางทอน เมื่อนางทอนถึงแก่ความตายที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และทายาทของนางทอน นางหวันจึงไม่มีสิทธินำที่ดินส่วนพิพาทไปขายให้แก่จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวก็ต้องถือว่าเป็นการครอบครองแทนเจ้าของ จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินส่วนพิพาท ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกามาด้วยว่า พฤติการณ์นางทอนและทายาทปล่อยให้นางหวันครอบครองที่ดินแปลงพิพาทเพียงคนเดียวเป็นการเชิดให้นางหวันเป็นตัวแทนขายที่ดินส่วนของนางทอน จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินดังกล่าวจากนางหวันโดยสุจริตจึงได้สิทธิครอบครองนั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามไม่ให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาประการที่สอง คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินส่วนพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ เห็นว่า การแย่งการครอบครองจะเกิดมีขึ้นได้ก็แต่เฉพาะในที่ดินของผู้อื่น คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินแปลงพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนางหราบเพราะนางหราบได้ยกให้นางหวันก่อนตายนางหวันได้ครอบครองทำประโยชน์มาประมาณ 20 ปี โดยนางทอน โจทก์และนายละอองไม่เคยเกี่ยวข้อง แล้วนางหวันได้ขายให้จำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองจึงได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อจากนางหวัน ไม่ได้บุกรุกเห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินแปลงพิพาททั้งแปลงเป็นของจำเลยทั้งสองมาตั้งแต่ต้น จำเลยทั้งสองมิได้ยอมรับว่าที่ดินแปลงพิพาทส่วนหนึ่งส่วนใดเป็นของนางทอนหรือของโจทก์และทายาทของนางทอน คดีจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วยว่าโจทก์ฟ้องเรียกคืนการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทเกิน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกแย่งการครอบครองหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวจึงถูกต้องแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการที่สาม คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้แล้วว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในที่ดินแปลงพิพาทรวมทั้งส่วนทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นส่วนที่โจทก์ครอบครองต่อจากนางทอน โดยใช้รถตักดิน รถไถดินและรถบรรทุกเข้าไปตักดินบริเวณดังกล่าวจนเป็นบ่อและถมดินให้สูงขึ้น ทำให้โจทก์กับทายาทของนางทอนและทายาทของนางหราบได้รับความเสียหายไม่สามารถครอบครองที่ดินแปลงพิพาทได้อย่างปกติสุข คิดเป็นเงิน 100,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวและค่าเสียหายอีกปีละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงพิพาท เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่จำเลยทั้งสองได้ขุดตักดินถมดินตรงไหนกว้างยาวเท่าใด เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการสุดท้าย โจทก์เสียหายเพียงใด เห็นว่าแม้โจทก์จะมิได้นำสืบให้เห็นว่าที่ดินส่วนพิพาทสามารถนำไปใช้ประโยชน์ใด หรือนำไปให้เช่าได้ค่าเช่าปีละเท่าใด แต่การที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปครอบครองขัดขวางมิให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอยู่ในตัว ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามความเหมาะสมได้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินสำหรับใช้ทำนาทำไร่และปลูกบ้านอยู่อาศัย มีทางรถยนต์เข้าถึงเฉพาะ ส่วนพิพาทมีเนื้อที่ 50 ไร่เศษ โจทก์และจำเลยทั้งสองตีราคากันไว้ถึง 2,515,625 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้ปีละ50,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันปรับที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลอื่นกระทำการโดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันออกค่าใช้จ่ายนั้น เห็นว่า เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ เพราะเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลอื่นกระทำการปรับที่ดินในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2