คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือกรมการค้าภายในระบุว่าปูนซีเมนต์มีภาวะตึงตัวมาตั้งแต่ปลายปี2532เนื่องจากปริมาณการผลิตภายในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการจำเลยและผู้รับเหมาของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการก่อสร้างควรจะต้องทราบถึงภาวะของวัสดุในการก่อสร้างโดยเฉพาะปูนซีเมนต์อันเป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างดีโจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายห้องชุดของจำเลยเมื่อวันที่9เมษายน2533เป็นช่วงระยะเวลาระหว่างที่ปูนซีเมนต์ขาดแคลนอยู่แต่จำเลยก็ทำสัญญาว่าจะก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายใน24เดือนเช่นนี้มิใช่เป็นกรณีที่เหตุปูนซีเมนต์ขาดแคลนเกิดขึ้นโดยมิได้คาดคิดแต่เป็นกรณีที่จำเลยได้รู้ถึงภาวะการขาดแคลนนั้นมาก่อนแล้วจำเลยย่อมไม่อาจยกเอาเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ว่าการที่ผู้รับเหมาของจำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างให้จำเลยได้ทันกำหนดตามสัญญามิใช่เป็นความผิดของจำเลยเมื่อจำเลยไม่ได้ก่อสร้างอาคารชุดให้เสร็จตามสัญญาถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ตามสัญญาจำเลยจะต้องก่อสร้างอาคารขุดให้เสร็จภายใน24เดือนนับแต่วันทำสัญญาคือภายในวันที่9เมษายน2535โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่27มีนาคม2535ก่อนครบกำหนดตามสัญญาประมาณ13วันและในเดือนมีนาคม2535นั้นจำเลยก็แจ้งแก่โจทก์ว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน2536ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ1ปี8เดือนดังนั้นแม้โจทก์จะกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้ก็เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยไม่อาจจะชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นได้กรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องกำหนดระยะเวลาบอกกล่าวอีกและชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ทันที

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2533 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดของอาคารชุด พี.บี.ทาวเวอร์ หมายเลข 11 ดีชั้นที่ 11 แบบ ดี ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 15001 และ 15002เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมวัสดุสิ่งตกแต่ง ราคารวม5,584,000 บาท ชำระเงินจองในวันทำสัญญาจำนวน 140,000 บาทและชำระเงินดาวน์ทั้งหมดจำนวน 2,094,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็น 24 งวด งวดละ 87,250 บาท ที่เหลือจำนวน3,350,000 บาท ตกลงชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และกำหนดจะก่อสร้างอาคารชุดให้เสร็จภายใน 24 เดือนนับแต่วันทำสัญญา หากจำเลยผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอรับเงินที่ได้ชำระทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยได้รับเงินไป ต่อมาโจทก์ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลย 6 งวดรวมเป็นเงินค่างวดและค่ามัดจำทั้งสิ้น 663,000 บาท นับแต่วันทำสัญญา จำเลยมิได้ดำเนินการก่อสร้างและเริ่มก่อสร้างเมื่อกลางปี 2534 การก่อสร้างอาคารของจำเลยดำเนินไปอย่างล่าช้าทำให้การก่อสร้างไม่ทันตามที่กำหนดในสัญญาโจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 221,552.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 884,552.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินจำนวน 663,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ชำระเงินให้แก่จำเลยตามที่ตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 2.2 และสัญญาซื้อขายวัสดุสิ่งตกแต่ง ข้อ 2.1 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2533 จำเลยทวงถามหลายครั้งโจทก์ไม่ชำระ โจทก์ผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาถึง18 งวด จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2535โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้วจึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยมีสิทธิริบเงินที่โจทก์ชำระไว้แล้วทั้งหมดโจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามฟ้องตามสัญญาข้อ 7 จำเลยตกลงว่าจะก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายใน24 เดือน นับแต่วันทำสัญญา เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นทำให้การก่อสร้างล่าช้าซึ่งมิใช่ความผิดของจำเลย การก่อสร้างล่าช้าเกิดจากผู้รับเหมาผิดสัญญา มิใช่ความผิดของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน663,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน50,000 บาท นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2533 ของต้นเงิน 67,500 บาทนับแต่วันที่ 9 เมษายน 2533 ของต้นเงิน 65,437 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2533 วันที่ 11 มิถุนายน 2533 วันที่ 13 กรกฎาคม2533 วันที่ 9 สิงหาคม 2533 วันที่ 9 กันยายน 2533วันที่ 9 ตุลาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,500 บาท นับแต่วันที่ 9 เมษายน 2533 กับของต้นเงิน 21,813 บาท นับแต่วันที่2 พฤษภาคม 2533 วันที่ 11 มิถุนายน 2533 วันที่ 13 กรกฎาคม 2533วันที่ 9 สิงหาคม 2533 วันที่ 9 กันยายน 2533 วันที่ 9 ตุลาคม 2533เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในประการแรกว่า การที่จำเลยไม่อาจก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 24 เดือน ตามสัญญาเพราะเหตุวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ในการก่อสร้างคือปูนซีเมนต์ขาดแคลนมิใช่เป็นความผิดของจำเลยอันทำให้จำเลยไม่ได้ตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยอ้างว่าเหตุที่การก่อสร้างต้องล่าช้าไปกว่าที่กำหนดเพราะเป็นช่วงที่วงการก่อสร้างประสบปัญหาปูนซีเมนต์ขาดแคลน ทำให้ผู้รับเหมาไม่สามารถหามาทำการก่อสร้างให้จำเลยได้ โดยจำเลยอ้างหนังสือกรมการค้าภายในฉบับลงวันที่ 23 มิถุนายน 2536 เรื่องการรับรองสถานการณ์ปูนซีเมนต์ขาดแคลนเอกสารหมาย ล.9ซึ่งระบุว่าปูนซีเมนต์มีภาวะตึงตัวเป็นบางช่วง ตั้งแต่ปลายปี 2532ถึงครึ่งแรกของปี 2534 เนื่องจากปริมาณการผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการ เห็นว่า ตามเอกสารดังกล่าวปูนซีเมนต์มีภาวะตึงตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2532 จำเลยและผู้รับเหมาของจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการก่อสร้างควรจะต้องทราบถึงภาวะของวัสดุในการก่อสร้างโดยเฉพาะปูนซีเมนต์อันเป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างดี โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายห้องชุดของจำเลยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2533 เป็นช่วงระยะเวลาระหว่างที่ปูนซีเมนต์ขาดแคลนอยู่แต่จำเลยทำสัญญาว่าจะก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายใน 24 เดือน เช่นนี้มิใช่เป็นกรณีที่เหตุปูนซีเมนต์ขาดแคลนเกิดขึ้นโดยมิได้คาดคิด แต่เป็นกรณีที่จำเลยได้รู้ถึงภาวะการขาดแคลนนั้นมาก่อนแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจยกเอาเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอ้างได้ว่าการที่ผู้รับเหมาของจำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างให้จำเลยได้ทันกำหนดตามสัญญามิใช่เป็นความผิดของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ได้ก่อสร้างอาคารชุดให้เสร็จตามสัญญาถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยมิได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยชำระหนี้ก่อนเป็นการไม่ชอบเพราะขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 หรือไม่เห็นว่า ตามสัญญาจำเลยจะต้องก่อสร้างอาคารชุดให้เสร็จภายใน24 เดือน นับแต่วันทำสัญญา คือภายในวันที่ 9 เมษายน 2535โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2535 ก่อนครบกำหนดตามสัญญาประมาณ 13 วัน และในเดือนมีนาคม 2535 นั้น จำเลยก็แจ้งแก่โจทก์ว่า การก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤศจิกายน2536 ซึ่งต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี 8 เดือน ดังนั้น แม้โจทก์จะกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้ ก็เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยไม่อาจจะชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นได้กรณีเช่นนี้โจทก์ไม่จำต้องกำหนดระยะเวลาบอกกล่าวอีกและชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ทันที
พิพากษายืน

Share