คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 795/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้วางระเบียบไว้ว่าใบสุทธิและใบรับรองให้ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการหรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นเป็นผู้ลงชื่อตัวชื่อสกุลพร้อมด้วยตำแหน่ง จำเลยเช่ากิจการโรงเรียนราษฎร์ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการจาก ส.ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดทำการสอนนักเรียนได้ ระหว่างที่จำเลยเช่านั้นตำแหน่งครูใหญ่ว่างอยู่ ส.จึงยื่นเรื่องราวขอบรรจุจำเลยเป็นผู้จัดการและครูใหญ่ แต่ก่อนที่ทางการจะสั่ง ส.ได้ไปขอถอนเรื่องคืน ระหว่างที่ ส.ยื่นเรื่องราวไว้นั้น จำเลยได้ลงชื่อในใบสุทธิให้แก่นักเรียนไปโดยบางฉบับระบุว่าเป็นครูใหญ่ บางฉบับว่าอาจารย์ใหญ่ ดังนี้เป็นการปลอมตนว่าเป็นผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารนั้น เอกสารนี้จึงไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง เพราะไม่ได้ลงนามผู้ที่มีอำนาจจะออกใบสุทธิได้ แม้ข้อความในใบสุทธินั้นเป็นความจริงก็มิใช่ว่าเอกสารปลอมจะมีข้อความตรงกับความจริงมิได้ สารสำคัญอยู่ที่ว่าจำเลยมีอำนาจลงนามในเอกสารนั้นได้หรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งไม่ได้เป็นครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการหรือผู้รักษาการแทนในตำแหน่งดังกล่าวของโรงเรียนพาณิชยการนนทบุรีซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ประเภทอาชีวะศึกษา ได้บังอาจปลอมเอกสารใบสุทธิของโรงเรียนดังกล่าวรวม ๗๕ ฉบับ ออกให้แก่นายสุรินทร์กับพวกรวม ๗๕ คน ซึ่งเป็นนักเรียนของโรงเรียนดังกล่าวจำเลยได้บังอาจลงลายมือชื่อของจำเลยในใบสุทธิในตำแหน่งครูใหญ่บ้าง อาจารย์ใหญ่บ้าง ผู้รักษาการแทนอาจารย์ใหญ่บ้างโดยไม่มีอำนาจ เป็นการผิดต่ดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยใบสุทธิและใบรับรองของโรงเรียน พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.๒๔๙๗ ได้วางระเบียบกำหนดให้ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ หรือผู้รักษาการแทนเท่านั้นเป็นผู้ลงชื่อหรือชื่อสกุลพร้อมด้วยตำแหน่งในใบสุทธิ ดังสำเนาระเบียบกระทรวงศึกษาธิการท้ายฟ้อง การปลอมใบสุทธิดังกล่าวเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารถูกต้องแท้จริง เป็นเหตุให้กระทรวงศึกษาธิการและนายสุรินทร์กับพวกได้รับความเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๖
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้เช่ากิจการของโรงเรียนพาณิชยการนนทบุรีจากนางสุดาซึ่งได้รับอนุญาตจากทางราชการให้เปิดทำการสอนนักเรียนได้ ระหว่างที่จำเลยเช่านั้น ตำแหน่งครูใหญ่ว่างอยู่ นางสุดาได้ยื่นเรื่องราวขอบรรจุจำเลยเป็นผู้จัดการและเป็นครูใหญ่ แต่ก่อนที่ทางการจะสั่งเรื่องราวที่นางสุดายื่นไว้ นางสุดาได้ไปขอถอนเรื่องราวที่ยื่นไว้นั้นกลับคืนมา ในระหว่างที่นางสุดาไปยื่นเรื่องราวไว้นั้นจำเลยได้ลงชื่อในใบสุทธิให้แก่นักเรียนไปรวม ๗๕ คน โดยบางฉบับว่าเป็นครูใหญ่บางฉบับว่าอาจารย์ใหญ่ โดยจำเลยมิได้รับอนุญาตจากทางการให้จำเลยเป็นครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนดังกล่าว
วินิจฉัยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้วางระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยใบสุทธิและใบรับรองของโรงเรียน พ.ศ.๒๕๐๐ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๐ โดยระเบียบนี้ให้ใช้แก่โรงเรียนทุกประเภทที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการว่า ใบสุทธิและใบรับรองให้ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการหรือผู้รักษาการเท่านั้นเป็นผู้ลงชื่อหรือชื่อสกุลพร้อมด้วยตำแหน่ง การที่จำเลยมิได้รับอนุญาตให้เป็นครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการหรือผู้รักษาการแทนของโรงเรียนพาณิชยการนนทบุรีซึ่งอยู่ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการได้ลงชื่อของจำเลยในใบสุทธิของโรงเรียนดังกล่าวนี้ให้แก่นักเรียนผู้ขอรับใบสุทธิไปว่าจำเลยมีตำแหน่งเป็นครูใหญ่หรือ อาจารย์ใหญ่ โดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจลงนามในใบเอกสารนั้น การกระทำของจำเลยเป็นการปลอมตนว่าตนเป็นผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารนั้น กล่าวคือโดยแสดงว่าจำเลยเป็นผู้มีอำนาจลงนามในใบสุทธิตามที่กระทรวงศึกษาธิการวางระเบียบให้ลงนามในตำแหน่งได้ เอกสารนี้จึงไม่ใช่เอกสารที่แท้จริง เพราะไม่ได้ลงนามผู้ที่มีอำนาจจะออกใบสุทธิได้ ใบสุทธิที่จำเลยลงนามในตำแหน่งดังกล่าวที่ออกให้แก่นักเรียนไปนั้นจึงเป็นเอกสารปลอม การกระทำของจำเลยก็เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้ข้อความในใบสุทธิที่จำเลยลงนาม โดยจำเลยไม่มีอำนาจลงนามในตำแหน่งได้นั้นเป็นความจริง ก็มิใช่ว่าเอกสารปลอมจะมีข้อความตรงกับความจริงมิได้ สารสำคัญอยู่ที่ว่าจำเลยมีอำนาจที่จะลงนามในเอกสารนั้นได้หรือไม่ เหตุนี้การที่จำเลยลงนามตำแหน่งครูใหญ่หรืออาจารย์ใหญ่ในใบสุทธิดังกล่าวให้แก่นักเรียนไปโดยจำเลยไม่มีอำนาจจะลงนามในตำแหน่งเช่นนั้นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสาร
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ วรรคแรก ให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐

Share