คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7937/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาว่า โจทก์จำเลยได้บันทึกให้จำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์พิพาทและจัดการแบ่งให้บุตรแล้วโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ว่าศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และจำเลยไม่ได้โต้แย้งถือว่าโจทก์สละประเด็น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาตามฎีกาของจำเลยซึ่งเป็นเรื่องการพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงว่า บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะบังคับได้เพียงใด โดยไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเป็นคู่ความหรือไม่ จึงมิใช่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเมื่อจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น จึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะทรัพย์พิพาทตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือไม่และโจทก์มีส่วนแบ่งเพียงใดเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ได้สละการครอบครองทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยแล้วนั้น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยาจำเลยโดยแต่งงานกันตามประเพณี แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ระหว่างอยู่กินได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5483,22252 และ 22298 จังหวัดศรีสะเกษ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 4894จังหวัดอุบลราชธานี และตามโฉนดเลขที่ 5066 อุบลราชธานีพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 136 และจำเลยประพฤติตนไม่เหมาะสมหาเรื่องตบตีทำร้ายโจทก์ จำเลยยังได้ลักลอบขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 5066 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และตามโฉนดเลขที่ 4894 โดยโจทก์ไม่ได้รับเงินส่วนแบ่ง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินราคาค่าขายที่ดินตามโฉนดที่ดินดังกล่าวตามส่วนของโจทก์กึ่งหนึ่ง คิดเป็นเงินจำนวน 315,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 5483, 22252 และ 22298 ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาหากไม่สามารถแบ่งได้ ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์จำเลยตกลงกันก่อนสมรสเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินต่างฝ่ายจะไม่ยุ่งเกี่ยวต่อกัน และไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วนกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้นำเงินส่วนตัวซื้อที่ดิน ที่ดินโฉนดเลขที่ 5483, 22252, 22298, 4894และ 5066 จึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชดใช้เงินค่าขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4894 จังหวัดอุบลราชธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 5066 จังหวัดอุบลราชธานี ให้โจทก์กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 315,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 5483, 22252, 22298 จังหวัดศรีสะเกษให้โจทก์กึ่งหนึ่งโดยให้แบ่งระหว่างกันเองก่อน เมื่อไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลระหว่างกันเองถ้าไม่ตกลงกัน ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันตามส่วน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์จำเลยได้บันทึกให้จำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์พิพาทและจัดการแบ่งให้บุตรแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ปัญหาข้อนี้ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และจำเลยไม่ได้โต้แย้งถือว่าโจทก์สละประเด็น จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกายกประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นพิจารณาอ้างว่าเป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่าปัญหาตามที่จำเลยฎีกาเป็นเรื่องการพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะบังคับได้เพียงใด โดยไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเป็นคู่ความหรือไม่ จึงมิใช่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเมื่อจำเลยไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า โจทก์ได้สละการครอบครองทรัพย์พิพาทให้แก่จำเลยแล้ว ปรากฏว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อเดียวว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะทรัพย์พิพาทตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือไม่และโจทก์มีส่วนแบ่งเพียงใดเท่านั้น ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นเดียวกัน
พิพากษายกฎีกาจำเลย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลย

Share