คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7926/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม มิได้ประชุมกันจริง และเป็นการทำรายงานการประชุมเท็จที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จึงชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นมีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนที่อาศัยการประชุมใหญ่เท็จดังกล่าวเสียได้ ทั้งกรณีของการทำรายงานการประชุมใหญ่เท็จเพื่อนำไปจดทะเบียน ย่อมจะมิใช่การประชุมใหญ่ผิดระเบียบเพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัทอันจะอยู่ในบังคับที่ต้องร้องขอให้เพิกถอนภายใน 1 เดือน นับแต่วันลงมติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 และมติที่ประชุมอื่นใดที่นายมูน ซิก กับพวกได้ลงมติในภายหลังและเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงของบริษัทและการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงอื่นใดที่มีมาในภายหลังจากมติที่ประชุมที่ขอให้เพิกถอนดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด เพื่อประกอบกิจการให้บริการอบซาวน่า คาราโอเกะ นวดแผนโบราณและสถานบันเทิง ทุนจดทะเบียน 6,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 60,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท มีบุคคลสัญชาติไทยถือหุ้น 4 คน จำนวน 30,600 หุ้น ได้แก่ นายโชคชัย 7,800 หุ้น นายวัฒนา 7,800 หุ้น นายวัชรพล 7,800 หุ้น นางทิพวรรณ์ 7,200 หุ้น คนต่างด้าวถือหุ้น 3 คน จำนวน 29,400 หุ้น ได้แก่ ผู้ร้อง 15,000 หุ้น นายฮี ชอน 13,800 หุ้น และนายซาง ชู 600 หุ้น มีผู้ร้องและนายฮี ชอน เป็นกรรมการ กับมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายฮี ชอน ถึงแก่ความตาย และศาลมีคำสั่งตั้งนายมูน ซิก ซึ่งเป็นบิดาเป็นผู้จัดการมรดก นายโชคชัยและนายวัชรพลมีหนังสือขอให้ผู้ร้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น นายวัชรพลและนายโชคชัยเรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 ในวันที่ 5 มีนาคม 2552 เวลา 10 นาฬิกา ณ บ้านเลขที่ 361 หมู่ที่ 14 ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ตามหนังสือเชิญประชุม ไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและประกาศหนังสือพิมพ์ นายมูน ซิก นำมติตามรายงานประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 ไปจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมให้ตนเองเข้าเป็นกรรมการและแก้ไขเพิ่มเติมตราประทับของบริษัท นายมูน ซิก เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2552 ณ บ้านเลขที่ 361 หมู่ที่ 14 ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ตามหนังสือเชิญประชุมไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและประกาศหนังสือพิมพ์ นายมูน ซิก นำมติตามรายงานประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2552 ไปจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการและจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัท โดยนำชื่อผู้ร้องออกและให้ตนเองมีอำนาจลงชื่อผูกพันบริษัทแต่เพียงผู้เดียว
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุเพิกถอนการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 ตามรายงานประชุมหรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาว่า การประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 ไม่มีการประชุมกันจริงนั้น เห็นว่า ผู้ร้องเบิกความถึงการก่อตั้งผู้คัดค้านเป็นนิติบุคคลว่า ผู้ร้องกับนายฮี ชอน สามีเป็นผู้ที่ร่วมก่อตั้งผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องเป็นผู้นำเงิน 35,000,000 บาท มาลงทุน สอดคล้องกับที่นายมูน ซิก นำสืบไว้ในคดีขอเป็นผู้จัดการมรดกว่า นายฮี ชอน เคยสมรสกับผู้ร้อง ไม่มีบุตรด้วยกันและต่อมาได้จดทะเบียนหย่า ที่ผู้ร้องเบิกความอ้างว่า นายโชคชัย นายวัฒนา นายวัชรพลและนางทิพวรรณ์เป็นเพียงลูกจ้างและมิได้ซื้อหุ้นจริง ผู้ร้องมีนายวัชรพลเบิกความสนับสนุนว่า พยาน นายโชคชัย นายวัฒนาและนางทิพวรรณ์ต่างเป็นลูกจ้างของนายฮี ชอน พยานทำงานเป็นดีเจและขับรถให้แก่นายฮี ชอน นายโชคชัยมีหน้าที่ผสมเครื่องดื่ม นายวัฒนาเป็นแคชเชียร์และนางทิพวรรณ์เป็นแม่ครัว นายฮี ชอน ให้พยานและพวกเข้าถือหุ้นโดยไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้น ไม่เคยเข้าประชุมในฐานะผู้ถือหุ้นและไม่เคยรับเงินปันผล ซึ่งสอดคล้องกับที่มีเพียงผู้ร้องและนายฮี ชอน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้คัดค้าน ทั้ง ๆ ที่ในทางทะเบียนถือหุ้นน้อยกว่าจำนวนหุ้นของนายโชคชัย นายวัฒนา นายวัชรพลและนางทิพวรรณ์รวมกัน และยังสอดคล้องกับที่ในการโอนหุ้นของนายโชคชัย นายวัฒนา นายวัชรพลและนางทิพวรรณ์ ให้แก่นายสุขุม นางฉวีวรรณ นายประสารและนางสาวอ้อมใจ ตามลำดับ กระทำได้เพียงแจ้งลงรายงานประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2552 โดยไม่ปรากฏหลักฐานให้อ้างอิงได้ว่ามีการซื้อขายหุ้นกันจริง ประกอบกับผู้คัดค้านมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงส่วนนี้ จึงฟังได้ว่าผู้ร้องและนายฮี ชอน เป็นผู้นำเงินมาลงทุน กับให้นายโชคชัย นายวัฒนา นายวัชรพลและนางทิพวรรณ์ซึ่งเป็นลูกจ้างเข้ามามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นแทน เพราะเหตุที่ผู้ร้องและนายฮี ชอน เป็นคนต่างด้าว จึงจำเป็นที่ต้องให้บุคคลผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งของทุนและจำนวนผู้ถือหุ้น เพื่อมิให้ขัดต่อประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ข้อ 3 เช่นนี้ แม้ความเป็นบริษัทจำกัดของผู้คัดค้านจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัท แต่ก็เชื่อได้ว่า ในความเป็นจริง นายโชคชัย นายวัฒนา นายวัชรพลและนางทิพวรรณ์ มิได้มีสิทธิมีเสียงใด ๆ ในฐานะผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง คงเพียงต้องรอฟังคำสั่งจากนายฮี ชอน ตามความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างกับลูกจ้างและเข้ามีชื่อถือหุ้นแทนเท่านั้น ซึ่งในการดำเนินกิจการของผู้คัดค้านระหว่างนายฮี ชอน ยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ปรากฏว่ามีปัญหาข้อขัดข้องอย่างใดๆ รวมทั้งนายโชคชัย นายวัฒนา นายวัชรพลและนางทิพวรรณ์ต่างไม่เคยอ้างสิทธิแสดงตัวเป็นเจ้าของหุ้นหรือแทรกแซงการดำเนินกิจการของผู้ร้องและนายฮี ชอน เลย การที่หลังจากนายฮี ชอน ถึงแก่ความตายและนายมูน ซิก เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล นายโชคชัยและนายวัชรพลจะมีหนังสือให้กรรมการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น โดยอ้างว่าเพื่อให้การบริหารงานของบริษัทดำเนินไปด้วยความสะดวกและเรียบร้อย จำเป็นต้องมีการประชุมปรึกษาเรื่องแต่งตั้งกรรมการและอำนาจกรรมการใหม่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุน กับไม่น่าเชื่อว่านายโชคชัยและนายวัชรพลซึ่งเป็นเพียงลูกจ้างที่ถือหุ้นไว้แทนจะคิดเรื่องราวและดำเนินการขึ้นมาเองได้ แม้ต่อมาหลังพ้นกำหนดสามสิบวัน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 นายวัชรพลและนายโชคชัยได้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 ในวันที่ 5 มีนาคม 2552 เวลา 10 นาฬิกา โดยคำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ได้มีการลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้น อันเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1174 และมาตรา 1175 แล้วก็ตาม แต่ได้ความจากคำเบิกความของผู้ร้องและตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านว่า ช่วงดังกล่าวผู้ร้องอยู่ที่สาธารณรัฐเกาหลี โดยเดินทางไปตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2552 ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้กระทำการโดยสุจริตแล้ว จึงไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะไม่ให้โอกาสแก่ผู้ร้องที่เป็นผู้ร่วมลงทุนจัดตั้งผู้คัดค้านมาตั้งแต่ต้นได้รับรู้การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของผู้คัดค้านด้วย ทั้งการใช้บ้านเลขที่ 361 หมู่ที่ 14 ตำบลดอยหล่อ อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้าน เพราะมิใช่เป็นสำนักงานใหญ่หรือที่ทำการของผู้คัดค้านหรือของผู้ถือหุ้นคนใด กับปรากฏภายหลังว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นบ้านอันภูมิลำเนาของนางสาวอ้อมใจผู้ที่เข้ารับโอนหุ้นของนางทิพวรรณ์ หลังการดำเนินการเปลี่ยนแปลงกรรมการของผู้คัดค้านเสร็จสิ้น ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นลำดับที่ 4 เป็นสถานที่นัดประชุม เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและส่อเพื่อปกปิดซ่อนเร้นไม่ให้ผู้ร้องทราบ พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้าน ฟังได้ว่าการประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 มิได้มีการประชุมกันจริงและเป็นการทำรายงานการประชุมเท็จที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จึงชอบที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นมีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนที่อาศัยการประชุมใหญ่เท็จดังกล่าวเสียได้ ทั้งกรณีของการทำรายงานการประชุมใหญ่เท็จเพื่อนำไปจดทะเบียน ย่อมจะมิใช่เป็นการประชุมใหญ่ผิดระเบียบ เพราะฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัท อันจะอยู่ในบังคับที่ต้องร้องขอให้เพิกถอนภายใน 1 เดือน นับแต่วันลงมติ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 และเมื่อฟังได้ดังนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในข้ออื่นอีก ที่ศาลล่างพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนบริษัทโซสึ จำกัด ผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2552 และที่ได้ดำเนินการต่อมาหลังจากนั้นเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share