แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่ฐานความผิดที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์อันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ฉะนั้นหากปรากฎว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 กระทำความผิดฐานรับของโจร อันเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 192 วรรคสาม จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การปฏิเสธโดยนำสืบอ้างฐานที่อยู่แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 340, 340 ตรี ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 5,940 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และริบรถจักรยานยนต์ของกลางซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิด
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุกคนละ 3 ปี แม้ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 4 จะมีอายุไม่เกินยี่สิบปี แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่สมควรลดมาตราส่วนโทษให้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขอและข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 กับพวกในความผิดฐานปล้นทรัพย์แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจร ศาลจะลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้” และวรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่น เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิด หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาทมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฎแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้….” ดังนี้ แม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งไม่ใช่ฐานความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 192 วรรคสาม ดังกล่าว แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็เป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์อันมีลักษณะเป็นการชิงทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปเช่นเดียวกัน ฉะนั้นหากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรอันเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 192 วรรคสามดังกล่าวแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญอันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้องและคดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธและนำสืบอ้างฐานที่อยู่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสาม และกรณีมิให้ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 โดยเหตุผลว่าเพราะข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาแตกต่างจากฟ้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญนั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจรหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นควรให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นไปตามลำดับชั้นศาล จึงให้ย้อนสำนวนกลับไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ตามรูปคดี
มีปัญหาข้อกฏหมายวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาคดีถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วได้หรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 จะถูกฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1468/2548 ของศาลชั้นต้นในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกันกับจำเลยที่ 1 และได้มีการรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษจำเลยที่ 4 หรือลดโทษให้จำเลยที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์ได้เมื่อเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี แต่เมื่อคดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ แต่ทางพิจารณาศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดฐานรับของโจร ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสามบัญญัติว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดและมิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ประกอบกับจำเลยที่ 4 นำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่จำเลยที่ 4 จึงไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรได้ กรณีจึงไม่มีเหตุในส่วนลักษณะคดีที่จะให้อำนาจศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ถึงจำเลยที่ 4 ซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ด้วยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 มาไม่ชอบ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงสำหรับจำเลยที่ 1 ใหม่ตามรูปคดี ส่วนจำเลยที่ 4 พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น