แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง บัญญัติว่า คดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตนั้น หมายถึงโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นลงโทษจริง ๆ แก่จำเลย หาใช่โทษที่ศาลชั้นต้นวางไว้ก่อนลดโทษให้แก่จำเลยไม่ เมื่อนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละตลอดชีวิต จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 25 ปี ดังนั้น เมื่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน กับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันอันศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขึ้นพิจารณาได้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ และฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 นั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนความผิดดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๐, ๘๓, ๙๑, ๑๓๘, ๑๔๐, ๒๘๙ พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๗ ริบเมทแอมเฟตามีน กระเป๋าสะพาย ๒ ใบ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๔ เครื่อง ของกลาง และบวกโทษของจำเลยที่ ๓ ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๗๔๘/๒๕๕๑ ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีเข้ากับโทษของจำเลยที่ ๓ ในคดีนี้
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยที่ ๑ ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การรับสารภาพฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้การปฏิเสธฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวาง
เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ แต่
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง และจำเลยที่ ๓ รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (๒), ๖๖ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก ๑๕ ปี จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (๒), ๖๖ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง, ๑๔๐ วรรคแรกและวรรคสาม, ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๘๐, ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ ๑๕ ปี ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย และใช้อาวุธปืนกับฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ตามมาตรา ๒๘๙ (๒) ประกอบมาตรา ๘๐ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละตลอดชีวิต จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ประกอบมาตรา ๕๒ (๒), ๕๓ คงลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ ๗ ปี ๖ เดือน ฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๒๕ ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามคนละตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) ริบเมทแอมเฟตามีน กระเป๋าสะพายและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง สำหรับคำขอที่ให้บวกโทษของจำเลยที่ ๓ ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๗๔๘/๒๕๕๑ ของศาลจังหวัดอุบลราชธานี เข้ากับโทษของจำเลยที่ ๓ คดีนี้ เนื่องจากคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๓ ตลอดชีวิต จึงไม่อาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้มาบวก ให้ยกคำขอ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่งและวรรคสาม (๒), ๖๖ วรรคหนึ่งและวรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ยกฟ้องข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ส่วนจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ จำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่เข้าจับกุมและฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามโดยลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง แล้วคงลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ ๗ ปี ๖ เดือน ส่วนฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๒๕ ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกจำเลยทั้งสามคนละตลอดชีวิต จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องและขอให้ลงโทษสถานเบา ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาโดยขอให้ลดโทษให้น้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพียงประการเดียว นอกจากศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยปัญหาที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์ยังได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่อีกครั้งหนึ่งด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง แล้วพิพากษาแก้เป็นว่าสำหรับจำเลยที่ ๓ ให้ยกฟ้องข้อหาร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
และข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จำเลยที่ ๒ เพียงผู้เดียวที่ฎีกา โดยฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ ๒ ได้เช่นเดียวกับจำเลยที่ ๓ และขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ สถานเบาด้วยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๕ วรรคสอง ที่บัญญัติว่า คดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตนั้น หมายถึงโทษประหารชีวิตหรือโทษจำคุกตลอดชีวิตที่ศาลชั้นต้นลงโทษจริง ๆ แก่จำเลย หาใช่โทษที่ศาลชั้นต้นวางไว้ก่อนลดโทษให้แก่จำเลยไม่ คดีนี้ ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ (๔) ประกอบมาตรา ๘๐ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละตลอดชีวิต จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ ๒๕ ปี ดังนั้น เมื่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้อุทธรณ์ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน อีกทั้งไม่ปรากฏว่าความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ ขัดขวางเจ้าพนักงานกับความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันอันศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๒๑๕ ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจหยิบยกคดีในส่วนของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานขึ้นพิจารณาได้ การที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๓ จึงเป็นการไม่ชอบ และฎีกาของจำเลยที่ ๒ ที่ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ ๒ ได้ ขอให้ยกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเช่นเดียวกับจำเลยที่ ๓ นั้น จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ ๒ ในส่วนความผิดดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ ในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและความผิดฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์