แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โรงพยาบาลเอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเอกชนด้วยกัน เป็นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ สำนักงานประกันสังคมซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง เป็นจำเลยที่ ๓ ขอให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลโจทก์ในส่วนที่ค้างจ่ายให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์อ้างว่าได้ทำความตกลงกับจำเลยที่ ๓ โดยมอบให้โจทก์เป็นผู้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ถือบัตรรับรองสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในอัตราของผู้ประกันตนให้แก่โจทก์ แต่เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ ๑ ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมที่โรงพยาบาลโจทก์ จำเลยที่ ๓ กลับปฏิเสธการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ ๑ โดยให้เหตุผลว่าตรวจสอบแล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงจากการตรวจรักษา เห็นว่า ข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ เมื่อสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๓ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีสาระสำคัญในการที่จำเลยที่ ๓ ว่าจ้างโรงพยาบาลโจทก์ทำการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขผ่านระบบประกันสังคม อันเป็นภารกิจหลักของจำเลยที่ ๓ ให้บรรลุผล สัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ จึงมีลักษณะที่จำเลยที่ ๓ มอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเอกชนเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๘๑/๒๕๕๗
วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๖ บริษัทโรงพยาบาลยันฮี จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องนายวิทยา ไวว่องวิทยาคุณ ที่ ๑ บริษัทอัลเมกซ์ แฟร์ คอลเลคชั่น ซีสเต็ม จำกัด ที่ ๒ สำนักงานประกันสังคม ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๖๙๕/๒๕๕๖ ความว่า จำเลยที่ ๓ ทำความตกลงกับโจทก์ ให้โจทก์เป็นผู้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ถือบัตรรับรองสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในอัตราของผู้ประกันตนให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมที่โรงพยาบาลโจทก์ตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลที่ออกโดยจำเลยที่ ๓ โจทก์จึงเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาจากจำเลยที่ ๓ จำนวน ๑๓๒,๐๐๐ บาท แต่จำเลยที่ ๓ ตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ แจ้งข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงต่อจำเลยที่ ๓ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ ประกอบพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๕ จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม จำเลยที่ ๓ จึงปฏิเสธการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ ๑ ให้แก่โจทก์แล้วติดตามให้จำเลยที่ ๒ นำเงินจำนวนดังกล่าวมาจ่ายให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ให้ข้อมูลการเป็นนายจ้างและลูกจ้างที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงแก่จำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ออกบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลประกันสังคมให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยไม่ตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกันตนก่อนออกบัตรรับรองสิทธิ เป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดรับรักษาจำเลยที่ ๑ โดยคิดค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิผู้ประกันตน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการไม่ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้างให้โจทก์เป็นผู้บริการทางการแพทย์ การที่จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมกับโจทก์ได้ ทำให้โจทก์พึงได้รับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงจากการตรวจรักษาให้จำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๗๖๕,๘๘๔ บาท โดยจำเลยที่ ๒ ได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์แล้วจำนวน ๑๓๒,๐๐๐ บาท แต่ยังคงค้างจ่ายอีกจำนวน ๖๓๓,๘๘๔ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินที่ค้างจ่ายจำนวน ๖๓๓,๘๘๔ บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ โดยชอบด้วยกฎหมายและจำเลยที่ ๒ นายจ้างของจำเลยที่ ๑ ได้ขึ้นทะเบียนจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ประกันตนต่อจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ได้รับขึ้นทะเบียนสิทธิดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ แล้ว ทั้งจำเลยที่ ๒ ได้หักเงินเดือนของจำเลยที่ ๑ เพื่อส่งเงินสมทบให้แก่จำเลยที่ ๓ ครบถ้วนตลอดมา เมื่อจำเลยที่ ๑ เข้ารับการรักษาพยาบาลกับโจทก์ จำเลยที่ ๓ จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องชำระค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ ๑ เต็มจำนวนตามสิทธิที่จำเลยที่ ๑ ได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ การที่จำเลยที่ ๓ อ้างว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างนั้นเป็นการพิจารณาที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงของจำเลยที่ ๓ เอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า หนี้ในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ได้เข้ารับบริการรักษาพยาบาลกับโจทก์ โจทก์จึงชอบจะเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติตามสัญญา อนึ่ง จำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ได้ทำข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ ๒ ชำระหนี้จำนวน ๑๓๒,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์แล้ว จะพ้นความรับผิดกับจำเลยที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๒ ได้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงแล้ว จึงพ้นความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์จากจำเลยที่ ๓ ขณะเข้ารับบริการทางการแพทย์ จำเลยที่ ๑ ยังเป็นผู้ประกันตนและสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ยังมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ แม้ภายหลังจะปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายก็ตาม จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสัญญาจ้างการให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๓ โดยโจทก์มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้จำนวน ๑๓๒,๐๐๐ บาท ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ส่วนค่ารักษาพยาบาลส่วนเกินที่โจทก์กล่าวอ้างอีก ๖๓๓,๘๘๔ บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ ๓ ประกอบกับโจทก์เองก็ได้รับชำระค่ารักษาพยาบาลจำนวน ๑๓๒,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนเกินที่โจทก์มีสิทธิได้รับชำระจากจำเลยที่ ๓ ตามสัญญา จากจำเลยที่ ๒ แล้ว โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวน ๖๓๓,๘๘๔ บาท จากจำเลยที่ ๓ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ แม้จะมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์ และจำเลยที่ ๓ แสดงเจตนาด้วยใจสมัครในฐานะเท่าเทียมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองตกลงมอบหมายให้โจทก์ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองแทนรัฐแต่อย่างใดไม่ ทั้งสัญญาดังกล่าวก็มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินค่ารักษาพยาบาลที่ค้างชำระจำนวน ๖๓๓,๘๘๔ บาท ให้แก่โจทก์ อันเป็นกรณีบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าเจ้าหนี้เรียกให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ชำระแก่ตน การที่จะพิจารณาเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง จึงต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่าข้อพิพาทนี้มีมูลแห่งหนี้มาจากเรื่องใด เมื่อพิจารณาข้อพิพาทนี้เห็นได้ว่าความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ที่มีผลในทางกฎหมายเกิดจากสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากสัญญาดังกล่าวเช่นกัน มูลแห่งหนี้ในคดีนี้จึงเกิดจากสัญญา และแม้ว่าสัญญาดังกล่าวจะระบุว่าเป็นสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดกำหนดสถานะของโจทก์ให้มีภาระหน้าที่หรือมีหนี้ที่ต้องชำระตามกฎหมายดังกล่าว มูลแห่งหนี้จึงมิได้เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้ แม้ว่ามาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ จะกำหนดให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทนก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ทั้งฉบับแล้วปรากฏว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ของสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ไว้ สิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์จึงไม่ได้เกิดจากพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่สิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เกิดจากสัญญา ทั้งข้อพิพาทนี้มิได้มีลักษณะอื่นอันเป็นคดีแรงงานตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๓ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน และโดยที่การดำเนินการของจำเลยที่ ๓ ในด้านการให้บริการทางการแพทย์เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดทำบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขผ่านระบบประกันสังคมที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งจำเลยที่ ๓ มีหน้าที่ต้องจัดให้แก่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งการดำเนินการดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำบริการสาธารณะให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นการสร้างหลักประกันให้แก่ลูกจ้างและบุคคลอื่นตามเจตนารมณ์ของการประกันสังคมด้วย แต่เนื่องจากจำเลยที่ ๓ ไม่มีสถานพยาบาลเป็นของตนเองเพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจึงทำสัญญากับสถานพยาบาลต่างๆ เพื่อให้สถานพยาบาลดังกล่าวให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนแทนจำเลยที่ ๓ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ ๓ ตกลงทำสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ กับโจทก์ โดยว่าจ้างโจทก์ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเอกชนให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองมอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอันเป็นการให้เอกชนเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมแก่ผู้ประกันตนตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ ๓ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งก็คือบริการสาธารณะบรรลุผล อีกทั้งสัญญาข้อ ๔.๔ ที่กำหนดให้จำเลยที่ ๓ มีสิทธิที่จะทำการแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือลดจำนวนผู้ประกันตนได้โดยไม่ต้องบอกเลิกสัญญา โดยสถานพยาบาลจะนำมาเป็นเหตุอ้างเพื่อยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญามิได้ เป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากสัญญาทางแพ่งทั่วไปอันแสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐซึ่งเป็นไปเพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยที่ ๓ บรรลุผล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จ่ายค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ที่เกิดขึ้นจริงเฉพาะส่วนที่ยังค้างชำระ ซึ่งจำเลยที่ ๓ ให้การต่อสู้ว่า ตามสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ จำเลยที่ ๓ ได้ชำระค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินจากจำเลยที่ ๓ อีก กรณีจึงเป็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยที่ ๓ ตามสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ดังกล่าวได้หรือไม่ ข้อพิพาทคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ เป็นกรณีที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองจึงชอบที่จะได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาโดยศาลเดียวกัน คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า จำเลยที่ ๓ ทำความตกลงกับโจทก์ให้โจทก์เป็นผู้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนที่ถือบัตรรับรองสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในอัตราของผู้ประกันตนให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคมที่โรงพยาบาลโจทก์ตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลที่ออกโดยจำเลยที่ ๓ โจทก์จึงเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลตามสัญญาจากจำเลยที่ ๓ แต่จำเลยที่ ๓ ปฏิเสธการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ ๑ โดยให้เหตุผลว่าตรวจสอบแล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้าง จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม การที่จำเลยที่ ๑ ไม่สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลประกันสังคม ทำให้โจทก์พึงได้รับเงินเป็นค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริงจากการตรวจรักษา โดยจำเลยที่ ๒ ได้จ่ายเงินบางส่วนให้แก่โจทก์แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินที่ค้างจ่ายให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ นายจ้างได้ขึ้นทะเบียนจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ประกันตนต่อจำเลยที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ได้รับขึ้นทะเบียนสิทธิดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ แล้ว โดยได้ส่งเงินสมทบให้แก่จำเลยที่ ๓ ครบถ้วนตลอดมา เมื่อจำเลยที่ ๑ เข้ารับการรักษาพยาบาลกับโจทก์ จำเลยที่ ๓ จึงมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องชำระค่ารักษาพยาบาลของจำเลยที่ ๑ตามสิทธิที่จำเลยที่ ๑ ได้รับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์จากจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามสัญญาจ้างการให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๓ เนื่องจากขณะเข้ารับบริการทางการแพทย์ จำเลยที่ ๑ ยังเป็นผู้ประกันตนและสัญญาจ้างบริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ ยังมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ ดังนั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ กรณีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่าข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) และมาตรา ๓ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้น คดีนี้ จำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๑๙ และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง เมื่อสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๓ เป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีสาระสำคัญในการที่จำเลยที่ ๓ ว่าจ้างโรงพยาบาลโจทก์ทำการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขผ่านระบบประกันสังคม อันเป็นภารกิจหลักของจำเลยที่ ๓ ให้บรรลุผล สัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ฉบับพิพาท จึงมีลักษณะที่จำเลยที่ ๓ มอบหมายให้โจทก์ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเอกชนเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทโรงพยาบาลยันฮี จำกัด โจทก์ นายวิทยา ไวว่องวิทยาคุณ ที่ ๑ บริษัทอัลเมกซ์ แฟร์ คอลเลคชั่น ซีสเต็ม จำกัด ที่ ๒ สำนักงานประกันสังคม ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ