คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7922/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ จากเดิมที่ให้กำหนด โดยถือราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์มาเป็นกำหนดโดยคำนึงถึง มาตรา 21 ทั้งมาตรา คือ ต้องกำหนดโดยเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 (1) (4) และ (5) มาพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (2) และ (3) ด้วย หาใช่แก้ไขให้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยต้องถือเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนในปีที่คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนดเงินค่าทดแทนไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 917,195,061.64 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 832,362,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา นายบุลนรงค์และนางวิบูลศิริผู้จัดการมรดกของโจทก์ ยื่นคำร้องว่าโจทก์ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์ 117,510,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าการที่ศาลอุทธรณ์กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 180,000 บาท ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 9 วรรคสี่ จากเดิมซึ่งบัญญัติว่า “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการกำหนดราคาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 สำหรับราคาที่ดินให้คณะกรรมการกำหนดโดยถือราคาตามมาตรา 21 (2) หรือ (3) แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์…” เป็นว่า “ในการกำหนดราคาเบื้องต้นของอสังหาริมทรัพย์และจำนวนเงินค่าทดแทนให้คณะกรรมการกำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 18 มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24…” คือแก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจากเดิมที่ให้กำหนดโดยถือราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ หรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์มาเป็นกำหนดโดยคำนึงถึงมาตรา 21 ทั้งมาตรา คือต้องกำหนดโดยเอาราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 (1) (4) และ (5) มาพิจารณาประกอบกับหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (2) และ (3) ด้วย ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 9369 และ 4161 จึงต้องกำหนดโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ในมาตรา 21 (1) ถึง (5) ประกอบกัน ซึ่งตามมาตรา 21 (1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดนั้นต้องเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 4 ตุลาคม 2533 หาใช่ราคาที่ซื้อขายที่ดินในปี 2536 ดังที่โจทก์ฎีกาไม่
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share