คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7916/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ธนาคารโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทให้โจทก์เป็นฝ่ายมีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราใดอัตราหนึ่งในระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้า หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ หรืออัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท เป็นเพียงข้อตกลงเพื่อทำให้โจทก์ไม่ต้องรับภาระในความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินเท่านั้น หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมใช้บังคับกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในวันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวนั้นได้
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้าหรือแม้จะมิได้นำสินค้าออกขายก็ดี จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายแก่โจทก์ ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ระบุตัวเลขอัตราดอกเบี้ย) นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ข้อความตามสัญญาข้อ 4 นี้ มีลักษณะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่ระบุในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีท และให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 กรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาดังกล่าว ย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ ทั้งในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็มีสัญญาข้อ 7 ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไว้อีกข้อหนึ่ง ดังนี้ เห็นได้ว่าสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 เป็นข้อสัญญาที่ระบุถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงที่จำเลยที่ 1 ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ในการเรียกดอกเบี้ยนี้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดที่ต้องรับโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 44 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 14 ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี และส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีนั้น และให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนั้น โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดสูงสุดได้ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้วเท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดหรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกด้วยส่วนต่างสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุให้สิทธิแก่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยระบุอัตราดอกเบี้ยในขณะทำสัญญาทรัสต์รีซีทเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาตามที่ระบุไว้ในประกาศธนาคารโจทก์ จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ตามประกาศธนาคารโจทก์ดังกล่าว สัญญาทรัสต์รีซีทจึงมีการระบุอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สิทธิแก่โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ก่อนเวลาผิดนัดเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกได้จากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ อันเป็นการทำสัญญาฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งโจทก์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) และ 44 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
คดีนี้นอกจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตประกอบกับสัญญาทรัสต์รีซีทแล้ว โจทก์ยังฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้ไว้แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไป อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ จึงเป็นอัตราที่โจทก์มีสิทธิคิดได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ ดังนั้น แม้ข้อตกลงตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 จะตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยมาข้างต้น แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ และที่ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้สินในวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยที่ 1 ยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดไว้สำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาในแต่ละช่วงเวลา แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้น เงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้เดิมจึงถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ คำนวณเป็นเงินบาทโดยอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ วันที่มีการชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายในต่างประเทศ (วันออกตั๋วสัญญาใช้เงิน) รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 21,172,857.20 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี จากต้นเงิน 16,763,761.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 21,172,857.20 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี ของต้นเงิน 16,763,761.30 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดด้วยในวงเงิน 17,000,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอนุญาต
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ข้อตกลงในสัญญาทรัสต์รีซีทที่ให้โจทก์เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้า หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ หรืออัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท เป็นข้อตกลงที่ทำให้โจทก์ได้เปรียบแต่ฝ่ายเดียว จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ และตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์นำมาใช้ในการคิดคำนวณหนี้เงินต่างประเทศเป็นเงินไทยตามคำฟ้องถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยต้องชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายสินค้าให้จำเลยที่ 1 ในต่างประเทศเป็นเงินต่างประเทศซึ่งโจทก์อาจจำเป็นต้องใช้เงินไทยเป็นจำนวนที่แลกเป็นเงินต่างประเทศได้เท่ากับจำนวนเงินค่าสินค้านั้นไปก่อนและจำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในภายหลังนั้น เงินไทยที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ควรเท่ากับจำนวนเงินไทยที่โจทก์ต้องใช้ในการชำระค่าสินค้าไปแล้ว หากต้องคิดคำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างจากที่โจทก์ใช้ในการชำระเงินค่าสินค้า ซึ่งไม่แน่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจะต่ำกว่าที่โจทก์ใช้คิดคำนวณในขณะชำระเงินค่าสินค้าหรือไม่ ย่อมมีปัญหาความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยนเงินแก่โจทก์ การที่โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์เป็นฝ่ายมีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราใดอัตราหนึ่งดังกล่าวในการคิดคำนวณหนี้เป็นเงินไทยที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์นั้นก็เป็นเพียงข้อตกลงเพื่อทำให้โจทก์ไม่ต้องรับภาระในความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินดังกล่าวเท่านั้น หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมใช้บังคับกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในวันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวนั้นได้โดยชอบ ส่วนปัญหาว่าตัวเลขอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์นำมาใช้ในการคิดคำนวณหนี้เงินต่างประเทศเป็นเงินไทยตามคำฟ้องถูกต้องหรือไม่นั้น โจทก์ได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่โจทก์จ่ายเงินชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายสินค้าตามข้อตกลงเลือกอัตราแลกเปลี่ยนเงินดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จึงต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันดังกล่าวมาคิดคำนวณหนี้ต้นเงินเป็นเงินบาทที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ และเมื่อพิจารณาถึงหนังสือที่โจทก์แจ้งไปยังจำเลยที่ 1 แสดงถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการที่จะให้สินเชื่อในจำนวนเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตที่มีการคิดคำนวณเป็นเงินบาทโดยอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้นตามเอกสารหมาย ล. 1 ถึง ล. 13 แล้ว มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่โจทก์จ่ายเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายเป็นไปตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุในเอกสารหมาย ล. 1 ถึง ล. 13 ซึ่งนำมาใช้ได้กับหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท 13 ฉบับ แต่ปรากฏว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่โจทก์นำมาใช้ในการคิดคำนวณหนี้ต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ตามที่ระบุรายละเอียดไว้ในรายการภาระหนี้เอกสารหมาย จ. 94 (15 แผ่น) นั้น ระบุอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คิดคำนวณหนี้ที่เกิดจากเลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 2120514 , 2120543 , 2120544 , 2120545 , 2120548 , 2120552 , 2120558 , 2120559 และ 2120608 ไว้เป็นอัตราสูงกว่าอัตราในวันที่โจทก์ชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายซึ่งไม่ถูกต้อง จึงต้องคิดคำนวณใหม่ให้ถูกต้อง และตามเอกสารหมาย จ. 95 ยังระบุอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คิดคำนวณหนี้ที่คิดจากเลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 2120609 , 2120635 , 2120658 และ 2120659 เป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่ผู้ขายสินค้า ซึ่งแม้จะไม่ถูกต้องเช่นกัน แต่เมื่อโจทก์กลับใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่ามาใช้ในการคิดคำนวณเป็นต้นเงินบาท ทำให้หนี้ต้นเงินบาทที่ได้จากการคิดคำนวณดังกล่าวที่โจทก์นำมาฟ้องเรียกร้องจากจำเลยที่ 1 มีจำนวนน้อยลง ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุต้องแก้ไขจำนวนหนี้ส่วนนี้ ส่วนหนี้ที่เกิดจากเลตเตอร์ออฟเครดิตอีก 1 ฉบับ คือ เลตเตอร์ออฟเครดิตเลขที่ 2120497 ไม่ปรากฏอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ชำระเงินแก่ผู้ขายอยู่ในเอกสารหมาย ล. 1 ถึง ล. 13 แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราแลกเปลี่ยนตามช่วงระยะเวลาวันที่โจทก์จ่ายเงินแก่ผู้ขายตามเลตเตอร์ออฟเครดิตฉบับนี้ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 เทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนวันอื่น ๆ ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล. 1 ถึง ล. 13 ดังกล่าวแล้ว น่าเชื่อว่า อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 53.10 บาท ที่โจทก์นำมาใช้ไม่ตรงกับอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงในวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 จึงให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นอัตราขายเงินดอลลาร์สหรัฐโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2540 แทน เพราะสามารถตรวจหาเพื่อนำมาใช้ในการคิดคำนวณหนี้ในชั้นบังคับคดีต่อไปได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงินตามคำฟ้องที่คิดคำนวณเป็นเงินบาทโดยอัตราแลกเปลี่ยนที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย จ. 94 จึงไม่ถูกต้อง และแม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะเห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนตามเอกสารหมาย จ. 94 จะเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาทรัสต์รีซีท ก็ไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นเงินบาทโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระเงินดังกล่าวได้เพราะเป็นการนอกเหนือจากคำฟ้องของโจทก์ที่ยืนยันว่าโจทก์เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันที่โจทก์ชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายสินค้าในต่างประเทศดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปว่า จำนวนหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ในส่วนดอกเบี้ยนั้นโจทก์มีสิทธิคิดคำนวณหนี้ที่เป็นดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราต่าง ๆ ตามคำฟ้องได้เพียงใดหรือไม่ เห็นว่า ข้อความตามสัญญาข้อ 4 นี้ มีลักษณะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่ระบุในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ และกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 กรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาดังกล่าว ย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ทั้งในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็มีสัญญาข้อ 7 ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไว้อีกข้อหนึ่ง ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 นี้ เป็นข้อสัญญาที่ระบุถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงที่จำเลยที่ 1 ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ในการเรียกดอกเบี้ยนี้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดที่ต้องรับโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 44 และตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด แต่เมื่อพิจารณาสัญญาทรัสต์รีซีท 14 ฉบับ กับประกาศธนาคารโจทก์ เรื่อง อัตราดอกเบี้ยและส่วนลดในชุดเอกสารหมาย จ. 95 ประกอบกันแล้วปรากฏว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ดังกล่าวมาข้างต้นระบุให้สิทธิแก่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยระบุอัตราดอกเบี้ยในขณะทำสัญญาทรัสต์รีซีท ฉบับที่ 1 เป็นอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ซึ่งเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญา ตามที่ระบุไว้ในประกาศธนาคารโจทก์จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ตามประกาศธนาคารโจทก์ดังกล่าว ส่วนสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 2 ถึงที่ 14 ก็ระบุอัตราดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไว้ในข้อ 4 เป็นอัตราร้อยละ 19.5 ทุกฉบับ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ในชุดเอกสารหมาย จ. 95 ที่ใช้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และสูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในชุดเอกสารหมาย จ. 95 ในช่วงระยะเวลานั้น ๆ เช่นกัน ข้อสัญญาที่ตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 4 ดังกล่าวมานี้ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ และที่ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้สินในวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินตามที่ระบุไว้จำเลยที่ 1 ยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 18.50 ต่อปี สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 1 และร้อยละ 19.50 ต่อปี สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับที่ 2 ถึง 14 นับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินจนถึงวันที่ชำระเงินเสร็จแก่โจทก์นั้นเท่ากับเป็นการให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดังกล่าวซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดไว้สำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาในแต่ละช่วงเวลา แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้น เงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้เดิมจึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยคำนึงถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 และเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่ก่อนผิดนัดมีการตกลงอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราเพียงร้อยละ 10.25 และ 10.50 ต่อปี อันแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าที่ดีที่ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยต่ำ และโจทก์ได้ประโยชน์น้อย แต่จำเลยที่ 1 กลับผิดนัดชำระหนี้อันทำให้ไม่อยู่ในฐานะลูกค้าที่ดีอีกต่อไป สมควรที่โจทก์ควรได้รับดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ไม่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป อย่างไรก็ตามการที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดที่เป็นเบี้ยปรับถึงอัตราผิดนัดสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ คือ ร้อยละ 18.50 ต่อปี และร้อยละ 19.50 ต่อปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากนั้น โจทก์ก็ไม่นำสืบพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเสียหายของโจทก์ที่ควรได้รับดอกเบี้ยที่เป็นเบี้ยปรับสูงเช่นนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรให้ลดเบี้ยปรับลงเหลือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดบวกด้วยหนึ่งในห้าของส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดและอัตราผิดนัดสูงสุด โดยให้ปรับเปลี่ยนอัตราดังกล่าวไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ที่มีผลบังคับนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น แต่อัตราดอกเบี้ยหลังวันฟ้องต้องไม่เกินร้อยละ 16.50 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ด้วย ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรให้ลดลงเพราะเป็นเบี้ยปรับนั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ได้อุทธรณ์ แต่เมื่อหนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้แล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ด้วย
การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ให้จำเลยที่ 1 ถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับการกำหนดจำนวนหนี้และวิธีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นการไม่ชอบ เพราะหากจำเลยที่ 1 ถามค้านไว้ น่าจะได้ความจริงว่า โจทก์มีสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด ชัดเจน อาจทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนไปได้นั้น เห็นได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ถามค้านพยานโจทก์แต่อย่างใด เพียงแต่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ และข้อที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ให้โอกาสจำเลยที่ 1 ถามค้านพยานโจทก์ ก็ไม่ถือเป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในเรื่องการขอเลื่อนคดีว่าการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีตามเหตุที่จำเลยที่ 1 อ้างนั้นไม่ชอบอย่างไร อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตประกอบกับสัญญาทรัสต์รีซีทและตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามสัญญาทั้ง 14 ชุด จากนั้นให้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดบวกด้วยหนึ่งในห้าของส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดและอัตราผิดนัดสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ โดยให้ปรับเปลี่ยนไปตามประกาศธนาคารโจทก์ฉบับต่าง ๆ ที่มีผลใช้บังคับในแต่ละช่วงเวลาทั้งที่ประกาศไว้ก่อนวันฟ้องและหลังวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 55,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง.

Share